ชื่อสมุนไพร ลูกใต้ใบ
ชื่ออื่นๆ /ชื่อท้องถิ่น หญ้าใต้ใบ,มะขามป้อมดิน,หน่วยใต้ใบ (ภาคเหนือ) ,หญ้าใต้ใบขาว (สุราษฎร์ธานี),จูเกี๋ยเช่า (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Phyllanthus amarus Schumach. & Thonn.
ชื่อสามัญ Egg woman, Tamalaki, Stonebreaker.
วงศ์ EUPHORBIACEAE
ลูกใต้ใบมีถิ่นกำเนิดในแถบเขตร้อนต่างๆของโลกทั้งในทวีป อเมริกาใต้ แอฟริกา และเอเชีย และมีการกระจายพันธุ์ไปอยู่ในหลายๆประเทศเขตร้อนของภูมิภาคดังกล่าว เช่น เปรู บราซิล ทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา อินเดีย ไทย พม่า ลาว ฯลฯ ส่วนในประเทศไทยนั้น ต้นลูกใต้ใบสามารถพบได้ทั่วทุกจังหวัด ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมักพบในที่โล่งแจ้งหรือตามบริเวณเงาไม้ใหญ่ในที่โล่งทั่วไป หรือขึ้นแซมกับพืชที่เกษตรกรปลูก จนต้องถูกกำจัดเหมือนวัชพืชอื่นๆเลยทีเดียว
ลักษณะทั่วไปลูกใต้ใบ
ลูกใต้ใบเป็นพืชตระกูลเดียวกับมะขามป้อม เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็กจัดอยู่ในวงศ์ Euphorbiaceae จีนัส Phyllanthus เหตุที่มีชื่อเรียกว่า ลูกใต้ใบ, หญ้าลูกใต้ใบ หรือ หญ้าใต้ใบ เนื่องจากมีผลขนาดเล็กออกตามซอกก้านใบย่อยและห้อยลงให้เห็นว่าลูกอยู่ใต้ใบ ในประเทศไทยมีพืชล้มลุกที่มีลักษณะดังกล่าวคล้ายคลึงกันและถูกเรียกว่าลูกใต้ใบอยู่อย่างน้อย 5 ชนิดหรือสปีชีส์ (species) ได้แก่ Phyllanthus amarus Schumach. & Thonn., P. debilis, P. niruri, P. urinary Linn (หญ้าใต้ใบ)และ P. virgatus G. Forst. แต่มีรายงานการศึกษาวิจัยพบว่าลูกใต้ใบชนิดP.amarus Schumach. & Thonn. นั้นเป็นชนิดที่ให้สารที่มีสรรพคุณทางยามากที่สุด ซึ่งลูกใต้ใบฃนิดนี้มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ดังนี้
- ต้นลูกใต้ใบ จัดเป็นพืชล้มลุก มีอายุเพียงปีเดียว มีความสูงประมาณ 10-50 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก ลำต้นไม่มีขน และทุกส่วนของต้นมีรสขม
- ใบลูกใต้ใบ ใบเป็นใบเดี่ยวประกอบแบบขนนกเรียงสลับกันชั้นเดียวปลายคี่ มีใบย่อยประมาณ 23-25 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ โคนใบมนแคบ ส่วนปลายใบมนกว้างของใบเรียบไม่มีขน ใบด้านล่างสีอ่อนกว่าด้านบน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 5-10 มิลลิเมตร มีก้านใบสั้นมาก มีหูใบสีขาวนวล ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมปลายแหลมเกาะติดอยู่ 2 อัน
- ดอกลูกใต้ใบ ดอกเป็นแบบแยกเพศ มีขนาดเล็กสีขาว เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.08 เซติเมตร ดอกเพศเมียมักจะอยู่บริเวณโคนก้านใบ ส่วนดอกเพศผู้มักจะอยู่บริเวณส่วนปลายของก้านใบ มักออกเป็นกระจุกๆละ 2-3 ดอก โดยดอกตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าดอกตัวผู้ประมาณ 2 เท่า และดอกเดี่ยวๆ เกสรตัวผู้มี 3 ก้าน โคนก้านเกสรเชื่อมกันเล็กน้อย มีอับเรณูแตกอยู่ตามแนวราบ ส่วนกลีบรองและกลีบดอกเป็นรูปไข่ ขอบกลีบมีสีอ่อน
- ผลลูกใต้ใบ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมแป้น ผิวเรียบมีสีเขียวอ่อนนวล ผลมีขนาดประมาณ 0.15 เซนติเมตร โดยผลมักจะเกาะติดอยู่บริเวณใต้โคนของใบย่อย และอยู่ในบริเวณกลางก้านใบ ผลเมื่อแก่จะแตกเป็นพู 6 พู ในแต่ละพูจะมีเมล็ด 1 เมล็ด สีน้ำตาล มีลักษณะเป็นรูปเสี้ยว 1 ส่วน 6 ของรูปทรงกลม มีสันตามยาวทางด้านหลัง และมีขนาดเล็กมากประมาณ 0.1 เซนติเมตร
การขยายพันธุ์ลูกใต้ใบ
ลูกใต้ใบเป็นพันธุ์ไม้ที่สามารถพบได้ทั่วไปในที่โล่งแจ้งและตามริมไม้ในที่โล่งทั่วทุกภูมิภาค โดยเฉพาะฤดูฝนจึงไม่มีการนิยมนำมาปลูกในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด ส่วนการขยายพันธุ์ของลูกใต้ใบนั้นสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด ในปัจจุบันนั้นเมื่อเริ่มมีการตื่นตัวถึงสรรพคุณของลูกใต้ใบที่มีรายงานการศึกษาวิจัยมารับรองแล้วนั้น จึงเริ่มเห็นมีการเพาะกล้าของลูกใต้ใบมาจำหน่ายและเกษตรกรก็เริ่มเพาะปลูกลูกใต้ใบเพื่อจำหน่ายมากขึ้นกว่าอดีต
ประโยชน์และสรรพคุณลูกใต้ใบ
- ช่วยปกป้องตับจากพิษของสารเคมี
- ช่วยรักษาผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งตับให้มีอายุยาวขึ้น
- ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย
- บำรุงธาตุในร่างกาย เจริญอาหาร
- รักษาโรคตา
- ช่วยควบคุมและลดระดับน้ำตาลในเลือด
- ช่วยลดความดันโลหิต
- แก้ไข้ ลดความร้อน
- ช่วยลดไข้ทุกชนิด
- ช่วยรักษามาลาเรีย
- ช่วยแก้อาการไอ
- ช่วยแก้หืด
- ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ
- ช่วยขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ ช่วยขับเสมหะ
- แก้ท้องเสีย แก้ปวดท้อง ท้องมาน
- แก้บิด ข้อระดูขาวไข้ประจำเดือนของสตรี
- รักษาไข้ทับระดู
- ช่วยบำรุงสายตา ทำให้สายตาดี
- ช่วยแก้พิษตานซาง
- แก้น้ำเหลืองเสีย
- บำรุงตับ
- รักษาดีซ่าน
- รักษาอาการปวดข้อ ปวดกระดูก ลดอาการอักเสบ
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
-
แก้ไข้ ให้นำต้นสด 1 กำมือ ต้มกับน้ำปริมาณ 2 ถ้วยแก้ว จากนั้นเคี่ยวจนเหลือน้ำ 1 1/2 ถ้วยแก้ว รับประทานครั้งละครึ่งถ้วยแก้ว
-
รักษาโรคเริม ให้ใช้ลูกใต้ใบประมาณ 5 ใบ ตำผสมกับเหล้าแล้วคั้นเอาแต่นำมา จากนั้นใช้สำลีชุบน้ำยามาแปะตรงที่เป็น
-
รักษาอาการปวดข้อ ใช้ยอดอ่อนมาต้มกับน้ำแล้วดื่มรักษาอาการปวดกระดูก ปวดข้อ
-
แก้ปวดเมื่อย นำลูกใต้ใบมาล้างน้ำ และสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ตากแดดให้แห้ง ต้มใส่หม้อดิน นำมาดื่มแทนชา
-
แก้ไอ นำใบอ่อนของต้นใต้ใบ 1 กำมือ ต้มกับน้ำ 2 แก้ว เคี่ยวจนเหลือน้ำ 1 1/2 แก้วใช้จิบแก้ไอ
-
ขับประจำเดือน นำต้นลูกใต้ใบมาต้มกิน ก็จะช่วยปรับสมดุลเลือดลมในร่างกาย ทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติได้
-
ไข้ทับระดู ให้นำลูกใต้ใบทั้ง 5 มาล้างน้ำสะอาด นำมาตำผสมเหล้าขาว คั้นเฉพาะน้ำยามาดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา
-
บำรุงสายตาให้ใช้ผลต้มดื่มและยังช่วยรักษาโรคตา
- กำจัดพิษออกจากตับ ใช้ต้มดื่มติดต่อกันประมาณ 1 สัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ตับถูกทำลายจากสารพิษต่าง ๆ และช่วยบำรุงตับ
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
จากการศึกษาวิจัยในหลอดทดลองหลายรายงานพบว่าลูกใต้ใบสามารถยับยั้ง DNA poly-merase ของ HBV ซึ่งเป็นเอนไซม์สำหรับสังเคราะห์ DNA ของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ได้แก่ สารสกัดเมทานอลจากลูกใต้ใบ (ไม่ระบุความเข้มข้น) สารสกัดเมทานอลจากทั้งต้น (ไม่ระบุความเข้มข้น) สารสกัดน้ำจากทั้งต้น มีค่า IC50 เท่ากับ 500 มค.ก./มล. สารสกัดน้ำจากทั้งต้น ความเข้มข้น 75 มค.ก./มล. สารสกัดน้ำจากทั้งต้นมีฤทธิ์อ่ออนในการยับยั้ง DNA polymerase ของ HBV มีค่า IC50 เท่ากับ 59 มค.ก./มล. และขนาด 43 มค.ก./มล. มีฤทธิ์อ่อนในการยังยั้ง HBV สารสกัดเมทานอลยังมีฤทธิ์ยับยั้ง HBV antigen
สารสกัดน้ำจากทั้งต้น ความเข้มข้น 100 มค.ก./มล. สามารถยับยั้งการแบ่งตัวภายในเซลล์ HBV สารสกัดเอทานอล สารสักดเฮกเซน สารสกัดคลอโรฟอร์ม สารสกัดบิวทานอล และสารสกัดน้ำจากทั้งต้น ขนาด 4 มก./มล. มีฤทธิ์ต้าน HBV antigen โดยสารสัดบิวทานอลมีฤทธิ์สูงสุด และยับยั้งปฏิกิริยาระหว่า HBs Ag/Hbe Ag ยับยั้งการสังเคราะห์ DNA ของ HBV และยับยั้งการ expression ของ HBV antigen สารสกัดน้ำจากทั้งต้น ความเข้มข้น 0.5 มก./มล. ทดลองในเซลล์เพาะเลี้ยง hepatoma cell line HepA2 ที่ถูกทำให้ติดเชื้อ HBV พบว่าสารสกัดจะยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์และกดการสร้าง Hbs Ag แต่ไม่ลดการสร้าง HBsAg gene promotor ซึ่งจะไปกระตุ้น CAT activity สารสกัดน้ำจากใบมีฤทธิ์ยับยั้งการ expression ของ HBV antigen โดยมี IC50 เท่ากับ 5 มค.ก./มล.
ส่วนการทดลองในสัตว์ทดลองพบว่าสารสกัดลูกใต้ใบให้ผลในการยับยั้งเชื้อ HBV ในสัตว์ทดลองโดยเมื่อฉีดสารสกัดน้ำจากทั้งต้นขนาด 80 มก./กก. เข้าช่องท้องหนู G26 transgenic mice จะยับยั้งการเกิด transcription ในตับหนูโดยลด HBV mRNA และขนาด 100 มค.ก./มล. (ไม่ระบุวิธีการบริหารยา) จะลดการเกิด ไtransgenic เช่นกัน โดยระดับของ HBs Ag mRNA ในเซลล์ตับลดลง และยับยั้ง expression ของ HBV mRNA
นอกจากนั้นยังมีผู้วิจัยแยกสารประกอบกลุ่ม lignan ได้จากสารสกัด ethyl acetate จากลูกใต้ใบซึ่งมีฤทธิ์ต้านมะเร็งโดยพบว่าไปยับยั้งการแสดงออกของ ยีน Bcl-2 และการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ telomerase ร่วมกับการกระตุ้นการทำงานแสดงออกของ ยีน c-myc และการทำงานของเอนไซม์ caspases ส่งผลให้เกิดกระบวนการตายของเซลล์แบบ apoptosis และยังมีการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาต่างๆอีกเช่น
- สารสกัดด้วยเอทานอลของรากลูกใต้ใบชนิด P. amarus มีฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระ และยังสามารถช่วยลด Oxidative stress ได้เมื่อศึกษาในหลอดทดลอง ส่วนในสารสกัดแบบน้ำชาของลูกใต้ใบก็พบว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระเช่นเดียวกัน
- สารสกัดด้วยเมทานอลของลูกใต้ใบชนิด P. amarus มีฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูที่เป็นโรคเบาหวานจากการฉีดสาร Alloxan และสารสกัดด้วยน้ำจากใบและเมล็ดของ P. amarus ก็มีฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เช่นกัน โดยมีการทดลองใช้ดื่มน้ำตาลซูโครส 10% เป็นเวลา 30 วันเพื่อทำให้ภาวะน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น แต่ผลการทดลองก็พบว่าสามารถช่วยลดภาวะเบาหวานได้
- มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อเอชไอวี สารสกัดด้วยน้ำและแอลกอฮอล์ของลูกใต้ใบชนิด P. amarus มีฤทธิ์แรงในการช่วยยับยั้ง HIV-1 โดยเป็นสารออกฤทธิ์ในกลุ่ม Gallotannin ซึ่งสาร Corilagin, Ellagitannins และ Geraniin นั้นจะมีฤทธิ์แรงที่สุด นอกจากนี้ยังช่วยยับยั้งเชื้อ HIVE ได้ถึง 30% และมีผลยับยั้งเชื้อ HIVE ทั้งใน in vitro และใน in vivo
- ช่วยป้องกันการเกิดพิษต่อตับของหนูขาวจากการได้รับยาพาราเซตามอล โดยพบว่าการให้ต้มหรือผงของลูกใต้ใบจำนวน 1 ครั้งในขนาด 3.2 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมในหนูทดลอง ก่อนให้พาราเซตามอลเป็นเวลา 1 ชั่วโมง มีผลช่วยลดความเป็นพิษได้ดีที่สุด
- สารสกัดด้วยเมทานอลของลูกใต้ใบ P. amarus มีฤทธิ์ในการต้านการก่อกลายพันธุ์ของสาร 2-acetaminofluorene (2-AFF), 4-nitro-O-phenylenediamine, Aflatoxin B1, Sodium azide และ N-methyl-N-nitro-N- nitrosoguanidine เมื่อทำการศึกษาด้วย Ames test ในหนูทดลอง โดยผลการต้านการก่อกลายพันธุ์ของสารสกัดใน in vitro จะดีกว่าใน in vivo
ฤทธิ์ปกป้องตับของลูกใต้ใบในหนูขาว การศึกษาในหนูขาวโดยแบ่งหนูขาวออกเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุมให้กินสารละลายกลูโคส (Isocaloric glucose solution) กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ได้รับสารละลายเอทานอล (20% น้ำหนัก/ปริมาตร) ขนาด 5 ก./กก./วัน กลุ่มที่ 3 ได้รับสารสกัดใบของลูกใต้ใบด้วยเมทานอลขนาด 250 มก./กก./วัน ร่วมกับสารละลายกลูโคส กลุ่มที่ 4 และ 5 เป็นกลุ่มที่ได้รับสารสกัดใบของลูกใต้ใบด้วยเมทานอลขนาด 250 และ 500 มก./กก./วัน ร่วมกับสารละลายเอทานอลขนาด 5 ก./กก./วัน ตามลำดับ นาน 4 สัปดาห์ (เอทานอลให้นาน 3 สัปดาห์) พบว่าเมื่อเปรียบเทียบกับหนูที่ได้รับเอทานอลเพียงอย่างเดียว สารสกัดลูกใต้ใบขนาด 250 และ 500 มก./กก./วัน ในหนูกลุ่มที่ 4 และ 5 ที่เหนี่ยวนำให้เกิดความเป็นพิษที่ตับด้วย เอทานอลสามารถลดระดับการเกิด lipid peroxidation ได้ 29.10 และ 45.67% ตามลำดับ และยังสามารถเพิ่มระดับการทำงานของเอนไซม์ reduced glutathione (GSH), superoxide dimutase (SOD), catalase (CAT) ในตับ โดยกลุ่มที่ได้รับสารสกัดลูกใต้ใบขนาด 250 มก./กก./วัน สามารถเพิ่มระดับการทำงานของเอนไซม์ GSH, SOD และ CAT ได้ 27.60, 36.36 และ 28.61% ตามลำดับ ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับสารสกัดลูกใต้ใบขนาด 500 มก./กก./วัน สามารถเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ดังกล่าวได้ 81.60, 51.03 และ 37.41% ตามลำดับ และหนูในกลุ่มที่ 4 และ 5 ยังสามารถลดการทำงานของเอนไซม์ glutathione-S transferase ได้ 28.19 และ 47.99% นอกจากนี้ยังพบว่าหนูกลุ่มที่ได้รับสารสกัดลูกใต้ใบ 250 มก./กก./วัน ร่วมกับ เอทานอล (กลุ่มที่ 4) การทำงานของเอนไซม์ alanine transaminase (ALT) aspartate transaminase (AST) และ alkaline phosphatase (ALP) ในตับเพิ่มขึ้น 12.68, 42.35 และ 40.01% ตามลำดับ ในขณะที่ ALT และ AST ในพลาสมาลดลง 41.38 และ 51.90% เช่นเดียวกับหนูในกลุ่มที่ 5 ที่ได้รับสารสกัดลูกใต้ใบ 500 มก./กก./วัน ร่วมกับเอทานอล ระดับของ ALT, AST และ ALP ในตับเพิ่มขึ้น 42.35, 21.63 และ 116.9% ในขณะที่ค่า ALT และ AST ในพลาสมาลดลง 51.90 และ 51.20% จากการศึกษาสรุปได้ว่าสารสกัดใบของลูกใต้ใบด้วยเมทานอลสามารถป้องกันการถูกทำลายของตับในหนูขาวที่เหนี่ยวนำให้เกิดพิษที่ตับได้
การศึกษาทางคลินิก
การศึกษาผู้ป่วยที่เป็นพาหนะของโรคตับอักเสบบีจำนวน 78 คน (แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 40 คน กลุ่มควบคุม 38 คน) สามารถติดตามผลหลังการทดลอง 1 เดือน ได้เพียง 60 คน (แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 37 คน กลุ่มควบคุม 23 คน) กลุ่มทดลองจะรับประทานยาผงลูกใต้ใบทั้งต้นบรรจุแคปซูลขนาด 200 มก. วันละ 3 ครั้ง นาน 30 วัน กลุ่มควบคุมจะรับประทานยาหลอกคือ lactose แทน ใช้การตรวจหา HBs Ag และ HBe Ag ในซีรัมของผู้ป่วยด้วยวิธี ELISA
หลังจากทดลอง 1 เดือน พบว่าผู้ป่วยในกลุ่มทดลอง 22 คน ใน 37 คน (59%) ตรวจพบ HBs Ag ในซีรัมเป็นผลลบ ในขณะที่มีผู้ป่วยในกลุ่มที่ได้รับยาหลอกเพียง 1 คนเท่านั้น (4%) ที่ตรวจพบ HBs Ag ในซีรัมเป็นผลลบ ในผู้ป่วยที่ตรวจพบ HBs Ag ในซีรัมเป็นผลลบใน 1 เดือนแรก จำนวน 22 คน ในกลุ่มทดลอง และ 1คนในกลุ่มควบคุม และเมื่อติดตามการรักษาจนถึง 9 เดือน เหลือผู้ป่วยในกลุ่มทดลองเพียง 1 คน ยังตรวจพบ HBs Ag เป็นผลลบเช่นเดิมผู้ป่วยที่เป็นพาหะที่มี HBs Ag และ HBe Ag จะมีผลตอบสนองต่อการรักษาน้อยกว่ากลุ่มพาหะที่ไม่มี HBe Ag กลุ่มที่มี HBs Ag และ HBe Ag จะปลอดการเป็นพาหะหลังการทดลองเพียง 29% (5 ใน 17 คน) และกลุ่มที่ไม่มี HBe Ag จะปลอดการเป็นพาหนะหลังการทดลองถึง 85% (17 ใน 20 คน) ส่วนผู้ป่วยที่เป็นพาหะที่ได้รับยาหลอก 1 คน ที่ตรวจพบ HBs Ag เป็นผลลบนั้นเป็นพาหะที่เดิมมีเพียง HBs Ag เท่านั้น และเป็นพาหะที่ไม่มีอาการ ไม่พบอาการข้างเคียงในผู้ป่วยทุกคนที่ทำการศึกษาในครั้งนี้ แต่อย่างไรก็ตามหลังจากติดตามผลได้ 3 เดือน พบว่าจำนวนผู้ป่วยในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติโดยกลุ่มควบคุมเหลือเพียง 19 คน ในขณะที่กลุ่มทดลองมีถึง 36 คน
นอกจากนี้ลูกใต้ใบยังสามารถลดการอักเสบของตับได้ ดังในการทดลองให้ผู้ป่วยชายและหญิงที่เป็นตับอักเสบเรื้อรัง รับประทานผลจากลูกใต้ใบทั้งต้นขนาด 1.5 ก./วัน ให้ผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรังทั้งสองเพศรับประทานต้นลูกใต้ใบ (ไม่ระบุขนาด) พบว่าสาร catechin จะลดระดับบิลิรูบินในพลาสมา และลด Bromsulfthalein clearance (BSP clearance) การศึกษาในผู้ป่วยตับอักเสบจากเชื้อไวรัส 120 ราย รับประทานยาตำรับของอายุรเวท 4 ชนิด ประกอบด้วยสมุนไพรพลายชนิดรวมทั้งลูกใต้ใบด้วย (ไม่ระบุขนาดที่รับประทาน) ผู้ป่วยทุกคนไม่ได้รับยาแผนปัจจุบัน พบว่าผู้ป่วยส่วนมากจะมีค่า serum glutamic oxaloacetic transaminase (SGOT). Serum glutamic pyruvic transaminase (SGPT) และบิลิรูบินลดลง และมีผู้ป่วย 1 รายที่ตรวจพบ HBs Ag เป็นผลลบ
การศึกษาทางพิษวิทยา
- การทดสอบความเป็นพิษ สารสกัดเซลล์ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงด้วยเอทานอล (50%) เมื่อให้หนูถีบจักรกิน พบว่าขนาดสูงสุดก่อนเกิดอาการพิษ คือ 1 ก./กก. สารสกัด 50% อัลกฮออส์จากทั้งต้น เมื่อให้หนูกินหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ขนาด 10 ก./กก. ไม่พบพิษ สารสกัดน้ำจากพืชทั้งต้น เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักร ขนาด .01 มก. หรือ 1.8 มก. ไม่พบพิษ สารสกัดด้วยไดคลอโรมีเทน เอทานอล และสารสกัดด้วยน้ำ เมื่อให้เข้าทางกระเพาะอาหารหนูถีบจักรในขนาด 500 มก./กก. ไม่พบพิษ สารสกัดน้ำจากทั้งต้นฉีดเข้าช่องท้องลูกเป็ดขนาด 500 มก./กก. ไม่พบพิษ สารสกัดเอทานอล 95% จากทั้งต้น เมื่อให้เข้าทางกระเพาะอาหารหนูถีบจักร ขนาด 100 มก./กก. นาน 30 วัน ไม่พบพิษ หนูที่กินสารสกัดจากพืชที่อยู่เหนือดิน (ไม่ระบุชนิดของสารสกัด) ขนาด 0.2 มก.วัน เป็นเวลา 90 วัน ไม่พบพิษ เมื่อให้ผู้ใหญ่ทั้งเพศชาย และหญิงรับประทานลูกใต้ใบขนาด 2.7 ก./วัน ไม่พบพิษ ผู้ใหญ่รับประทานพืชส่วนที่อยู่เหนือดินขนาด 1.5 ก.ไม่พบพิษ และเมื่อให้เด็กรับประทานพืชทั้งต้น (ไม่ระบุขนาดที่รับประทาน) ไม่พบพิษ
ส่วนสกัดของสารสกัด (ไม่ระบุชนิดและขนาดของสารสกัด) เมื่อให้เข้าทางช่องท้องหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนังของหนูถีบจักรและหนูขาว ทำให้เกิดการซัก ส่วนสกัดของสารสกัด (ไม่ระบุชนิดและขนาด) มีฤทธิ์ลดอัตราการเต้นและบีบตัวของหัวใจกบ หนูขาว และหนูถีบจักร ส่วนสกัดของสารสกัด (ไม่ระบุชนิดและขนาด) มีฤทธิ์ลดความดันในสุนัข
- ผลต่อระบบสืบพันธุ์ เมื่อให้หนูถีบจักรเพศผู้ กินสารสกัดอัลกอออล์จากทั้งต้น ขนาด 100,250,400 และ 500 มก./กก. จะลดอัตราการมีลูกลง 10,32,52 และ 72% ตามลำดับ และเมื่อให้หนูกินสารสกัดดังกล่าวในขนาดสูงเท่ากับ 500 มก./กก. จะลด cauda epididymal sperm counts ลดการเคลื่องที่ของสเปิร์ม ยังยั้ง succinate dehydrogenase ใน epididymis และ testis เปอร์เซ็นต์ของสเปิร์มที่มีชีวิตลดลง
เมื่อให้สารสกัดเอทานอล 95% จากทั้งต้น ทางสายยางให้อาหารแก่หนูถีบจักรเพศเมีย ขนาด 100 มก./กก.นาน 30 วัน จะทำให้หนูมีลูกยาก
- เป็นพิษต่อเซลล์ สารสกัดน้ำจากทั้งต้น ความเข้มข้น 1 มก./มล.,200 มค.ก./มล. และ 500 มค.ก./มล. เป็นพิษต่อเซลล์ sarcoma (Rous virus) (11), Ca-Hepatocarinoma-G2(7) และ cell line HuH-7 (13) ตามลำดับ
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานลูกใต้ใบเพราะลูกใต้ใบมีสรรพคุณในการขับประจำเดือนซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้
- ลูกใต้ใบมีฤทธิ์ทางเภสัชที่เหมือนกับยาแอสไพริน ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการแข่งตัวของเลือดไม่ควรรับประทาน
- การใช้สมุนไพรลูกใต้ใบนั้น ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกินไป และไม่ควรใช้เกิดขนาดที่ระบุในฉลากผลิตภัณฑ์
- ผู้ที่เป็นโรคตับ โรคไตควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
เอกสารอ้างอิง
- ศิริพร เหลียงกอบกิจ.ลูกใต้ใบ&ตับอักเสบบี.จุลสารข้อมูลสมุนไพร.
- รศ.ภกญ.นวลน้อย จูฑะพงษ์.รายงานการวิจัยฤทธิ์ของลูกใต้ใบต่อหน้าที่ไมโตคอนเดรียในตับหนูขาว.สาขาวิชาเภสัชวิทยา สำนักวิชาวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.
- ฤทธิ์ปกป้องตับของลูกใต้ใบในหนูขาว.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ลีนา ผู้พัฒนพงศ์, 2530. สมุนไพรไทยตอนที่ 5 . ฝ่ายพฤกษศาสตร์ป่าไม้ กองบำรุง กรมป่าไม้, กรุงเทพฯ
- Faremi TY, Suru SM, Fafunso MA, Obioha UE.Hepatoprotective potentials of Phyllanthus amarus againt etanol-induced oxidative stress in rats. Food Chem Toxicol.2008;46:2658-64
- Van Welzen, P., Chayamarit, K. (2007) Euphorbiaceae, in: Santisuk, T., Larsen, K. (Eds.),
Flora of Thailand. Prachachon Co. LTD., Bangkok, pp. 473-507.
- เต็ม สมิตินันทน์,2544. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้, กรุงเทพฯ.
- Giridharan, P., Somasundaram, S.T., Perumal, K., Vishwakarma, R.A., Karthikeyan, N.P., Velmurugan, R., Balakrishnan, A. (2002) Novel substituted methylenedioxy lignan suppresses proliferation of cancer cells by inhibiting telomerase and activation of c-myc and caspases leading to apoptosis. British Journal of Cancer 87: 98-105.