ปลาตะเพียนขาว หรือ ปลาตะเพียนเงิน หรือที่นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า ปลาตะเพียน (ชื่อวิทยาศาสตร์: Barbonymus gonionotus) เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) มีรูปร่างเหมือนปลาในวงศ์ปลาตะเพียนทั่วไป ตัวมีสีเงินแวววาว
ด้านหลังมีสีคล้ำเล็กน้อย ด้านท้องสีจาง ครีบอื่น ๆ มีสีเหลืองอ่อน ภาคอีสานเรียกว่า "ปลาปาก" ปลาตะเพียนขาวเป็นปลาพื้นเมืองของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ นับเป็นปลาน้ำจืดที่คนไทยรู้จักดี และอยู่ในวิถีชีวิตความเป็นอยู่มาแต่โบราณ เช่น ปลาตะเพียนใบลาน มีการเลี้ยงปลาชนิดนี้ในประเทศมานานกว่า 30 ปี และถูกนำพันธุ์ไปเลี้ยงยังต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย, บอร์เนียว, อินโดนีเซีย แม้ว่าในประเทศเหล่านี้จะมีปลาชนิดนี้อยู่ในธรรมชาติแล้วก็ตาม ขนาดโดยเฉลี่ย 36 เซนติเมตร (พบใหญ่ที่สุด 90 เซนติเมตร น้ำหนัก 13 กิโลกรัม ที่มาเลเซีย) พบชุกชุมในทุกแหล่งน้ำทุกภาคของไทย ยกเว้นแม่น้ำสาละวิน อยู่กันเป็นฝูง ชอบที่น้ำไหลเป็นพิเศษ เป็นปลากินพืช, แมลง และสัตว์หน้าดิน นอกจากนี้ยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอีกด้วย โดยเฉพาะตัวที่เป็นปลาเผือก ซึ่งเรียกกันว่า "ปลาตะเพียนอินโด" นิยมเลี้ยงเพื่อใช้ประโยชน์เก็บกินเศษอาหารที่ปลาใหญ่กินเหลือหรือเก็บตะไคร่น้ำและปรสิตในตู้ หรือแม้กระทั่งเลี้ยงเป็นปลาลูกไล่ของปลาใหญ่กว่า หรือเลี้ยงเพื่อทดสอบค่าความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำ (pH) หรือความเข้มข้นของคลอรีน ก่อนที่จะปล่อยปลาที่จะเลี้ยงจริงลงไป เนื่องจากเป็นปลาที่มีราคาถูก หาซื้อได้ง่าย และมีความไวต่อคุณภาพน้ำ
มีการผสมพันธุ์และวางไข่ในช่วงฤดูฝน ตัวเมียเมื่อถึงสภาพสมบูรณ์ ลำตัวจะอวบอ้วนและใหญ่กว่าตัวผู้ถึง 2–3 เท่า ตัวผู้บริเวณข้างแก้มจะมีตุ่มคล้ายสิวอันเป็นเอกลักษณ์ของปลาในวงศ์ปลาตะเพียน ตัวเมียใช้เวลาอุ้มท้องจนกระทั่งวางไข่ประมาณ 1 เดือน ปัจจุบันมีการเพาะพันธุ์ปลาเพื่อนำไปปล่อยในแหล่งน้ำต่าง ๆ
มีการนำมาทำเป็นอาหาร เช่น ปลาตะเพียนต้มเค็มหรือปลาส้ม นับว่าเป็นตำรับที่มีชื่อมากของปลาชนิดนี้ แต่เป็นปลาที่มีก้างมาก