เถาวัลย์เปรียง1ชื่อสมุนไพร เถาวัลย์เปรียง
ชื่ออื่นๆ เถาวัลย์เปรียงขาว เถาวัลย์เปรียงแดง (ภาคกลาง) , เครือตาปลา , เครือไหล (เชียงใหม่) , เครือตับปลา (เลย) , เถาตาปลา , เครือเขาหนัง , ย่านเหมาะ (นครราชสีมา) , พานไสน (ชุมพร) , เครือตาป่า , เครือตาปลาโคก , เครือตาปลาน้ำ (ภาคอีสาน) ย่านเหมาะ ,ย่านเบราะ (ภาคใต้)


ชื่อวิทยาศาสตร์  Derris scandens (Roxb.) Benth
ชื่อสามัญ Jewel Vine
วงศ์ Papilionaceae

 เถาวัลย์เปรียง2

สมุนไพรเถาวัลย์เปรียง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เครือตาปลา เครือไหล (เชียงใหม่), เครือตับปลา (เลย), เถาตาปลา เครือเขาหนัง ย่านเหมาะ (นครราชสีมา), พานไสน (ชุมพร), เครือตาป่า เครือตับปลา เครือเขาหนัง เครือตาปลาโคก (หากเกิดบนบก) เครือตาปลาน้ำ (หากเกิดในที่ลุ่ม) (ภาคอีสาน), เถาวัลย์เปรียงขาว เถาวัลย์เปรียงแดง (ภาคกลาง), ย่านเหมาะ ย่านเมราะ (ภาคใต้) เป็นต้น

ต้นเถาวัลย์เปรียง จัดเป็นไม้เถาเลื้อยขนาดใหญ่ สามารถเลื้อยไปได้ไกลถึง 20 เมตร มีกิ่งเหนียวและทนทาน กิ่งแตกเถายืดยาวอย่างรวดเร็ว เถามักเลื้อยพาดพันตามต้นไม้ใหญ่ เถาแก่มีเนื้อไม้แข็ง เปลือกเถาเรียบและเหนียว เป็นสีน้ำตาลเข้มอมสีดำหรือแดง เถาใหญ่มักจะบิด เนื้อไม้เป็นสีออกน้ำตาลอ่อน ๆ มีวงเป็นสีน้ำตาลไหม้คล้ายกับเถาต้นแดง (เนื้อไม้มีรสเฝื่อนและเอียน) ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดหรือวิธีการแยกไหลใต้ดิน ชอบอากาศเย็นแต่แสงแดดจัด ทนความแห้งแล้งได้ดี หากปลูกในที่แล้งจะออกดอกดก แต่จะมีขนาดเล็กกว่าปลูกในที่ชุ่มชื้น พรรณไม้ชนิดนี้มักขึ้นเองตามชายป่าและที่โล่งทั่วไป เป็นพรรณไม้ที่มีมากที่สุดในประเทศไทยและใช้กันทุกจังหวัด
เถาวัลย์เปรียง3ใบเถาวัลย์เปรียง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับกัน มีใบย่อย 4-8 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรี ปลายใบเป็นรูปหอก โคนใบมน ขอบใบเรียบ ใบย่อยมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.25 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร หลังใบเรียบเป็นมันสีเขียวเข้ม ท้องใบเรียบ

เถาวัลย์เปรียง4ดอกเถาวัลย์เปรียง6ดอกเถาวัลย์เปรียง ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด ช่อดอกเป็นสีขาวห้อยลง ดอกเป็นสีขาวอมสีม่วงอ่อนคล้ายกับดอกถั่ว กลีบดอกมี 4 กลีบและมีขนาดไม่เท่ากัน สวนกลีบเลี้ยงดอกมีลักษณะเป็นรูปถ้วย สีม่วงแดง

ผลเถาวัลย์เปรียง ออกผลเป็นฝักแบน โคนฝักและปลายฝักมน ฝักเมื่อแก่เป็นสีน้ำตาลอ่อน ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 1-4 เมล็ด

สรรพคุณของเถาวัลย์เปรียง

  1. เถาใช้ต้มรับประทานเป็นยาถ่ายกระษัย แก้กระษัย (เถา)
  2. รากมีรสเฝื่อนเมา ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ใช้เป็นส่วนประกอบของยาอายุวัฒนะ เพื่อช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง
  3. ตำรับยาไทยใช้รากเป็นยารักษาอาการไข้
  4. ช่วยแก้หวัด แก้ไอ
  5. เถาใช้ต้มรับประทานเป็นยาถ่ายเสมหะลงสู่ทวารหนัก แก้เสมหะพิการโดยไม่ทำให้ถ่ายอุจจาระ จึงเหมาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคบิด โรคหวัด โรคไอ และใช้ได้ดีในเด็ก
  6. ช่วยแก้บิด
  7. เถามีรสเฝื่อนเอียน ใช้ต้มรับประทานเป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะผิดปกติ แก้ปัสสาวะกะปริดกะปรอย ส่วนรากมีรสเฝื่อนเอียนมีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะเช่นกัน และยังมีข้อมูลระบุว่าการใช้สมุนไพรชนิดนี้จะทำให้ปัสสาวะได้บ่อยกว่าปกติ จึงอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคต่อมลูกหมากโตด้วย
  8. เถาใช้ดองกับเหล้าเป็นยาขับระดูของสตรี
  9. คนโบราณจะนิยมใช้เถาของเถาวัลย์เปรียงเพื่อเป็นยารักษาอาการตกขาวของสตรี (อาการตกขาวชนิดที่ไม่มีกลิ่น ไม่มีอาการคัน ไม่เปลี่ยนเป็นสีเขียว)
  10. เถามีสรรพคุณในการบีบมดลูก
  1. ช่วยขับโลหิตเสียของสตรี ด้วยการใช้เถาวัลย์เปรียงทั้งห้าแบบสด ๆ นำมาต้มกับน้ำ แล้วนำน้ำที่ได้มาใช้ดื่มต่างน้ำ
  2. ช่วยทำให้มดลูกเข้าอู่ ด้วยการใช้เถาสดนำมาทุบให้ยุ่ย แล้ววางทาบลงบนหน้าท้อง แล้วนำหม้อเกลือที่ร้อนมานาบลงไปบนเถาวัลย์เปรียง จะช่วยทำให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็วขึ้น
  3. บางตำรากล่าวว่าเถามีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง ทำให้มีกำลังดีแข็งแรงสู้ไม่ถอย
  4. เถามีรสเฝื่อนเอียน ใช้ต้มรับประทานเป็นยาถ่ายเส้น ทำให้เส้นเอ็นอ่อนและหย่อนดี ช่วยรักษาเส้นเอ็นขอด เส้นเอ็นพิการ แก้อาการปวด ปวดเมื่อย ปวดหลัง ปวดเอว ปวดข้อ ข้ออักเสบ ช่วยรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม แก้อาการอักเสบของกล้ามเนื้อ หรือจะใช้เถานำมาหั่นตากแห้ง คั่วชงน้ำกินต่างน้ำชาเป็นยาทำให้เส้นหย่อน แก้อาการเมื่อยขบตามร่างกาย แก้อาการปวดเมื่อย แก้เหน็บชา
  5. มีการใช้เถาเพื่อรักษาโรคอัมพฤกษ์และกระดูกหัก โดยการนำเถามาตำให้เป็นผงผสมกับน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันหัวครำ แล้วใช้เป็นยาทานวดบริเวณที่เป็นทุกวันจนหาย

วิธีใช้สมุนไพรเถาวัลย์เปรียง

เถาวัลย์เปรียง5

  • ยาแคปซูลที่ได้จากผลของเถาวัลย์เปรียง ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อและลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ โดยให้รับประทานหลังอาหารทันทีครั้งละ 500 มิลลิกรัม ถึง 1,000 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง
  • ยาแคปซูลที่สกัดจากเถาวัลย์เปรียงด้วย 50% ของเอทิลแอลกอฮอล์ ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดหลังส่วนล่างและแก้อาการปวดจากข้อเข่าเสื่อม โดยให้รับประทานหลังอาหารทันทีครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเถาวัลย์เปรียง

  • องค์ประกอบทางเคมีที่พบในเถาและรากเถาวัลย์เปรียง ได้แก่ chandalone, etunaagarone, nalanin, lonchocarpenin, osajin, robustic acid, scandenin, scandione, scandenone, scandinone, waragalone, wighteone
  • สารสกัดด้วยน้ำช่วยลดการหลั่ง myeloperoxidase (88 %) ของหนู (rat peritoneal leukocytes) ที่ถูกกระตุ้นด้วย calcium ionophore โดยมีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ โดยการยับยั้งการสังเคราะห์สารอิโคซานอยด์ (Eicosanoid)
  • สาร genistein และสาร scandenin ช่วยลดการหลั่ง elastasemyeloperoxidase ของหนู (rat peritoneal leukocytes) โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 0.22 และ 0.14 ไมโครโมลาร์ ตามลำดับ
  • สารสกัดด้วยน้ำและสารสกัดด้วย 50% เอทานอล 500 ไมโครกรัม/มล. ช่วยยับยั้งเอนไซม์ lipoxygenase โดยลดการเกิด leukotriene B4 ซึ่งมีบทบาทสำคัญในกระบวนการอักเสบ
  • มีงานวิจัยทางคลินิกเพื่อศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดเถาวัลย์เปรียง ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังส่วนล่าง จำนวน 70 ราย โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้ป่วยที่ได้รับสารสกัดเถาวัลย์เปรียงแคปซูลขนาด 200 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 1 สัปดาห์ และกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาแผนปัจจุบันไดโคลฟีแนค (Diclofenac) ในขนาด 25 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 1 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มมีอาการปวดลดลงอย่างชัดเจนในวันที่ 3 และวันที่ 7 โดยกลุ่มที่ได้รับสารสกัดเถาวัลย์เปรียงมีเม็ดเลือดขาวลดลงอย่างมีนัยสำคัญในวันที่ 7 ของการรักษา แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติและไม่พบว่ามีผลข้างเคียงหรือมีการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีแต่อย่างใด
  • สารสกัดจากเถาของเถาวัลย์เปรียงมีสารในกลุ่มไอโซฟลาโวน (Isoflavone) และสารไอโซฟลาโวน ไกลโคไซด์ (Isoflavone glycoside) ที่มีฤทธิ์ต่อต้านการอักเสบ โดยเฉพาะอาการอักเสบตามข้อ โดยมีสรรพคุณช่วยลดอาการปวดหลังส่วนล่าง สามารถนำมาใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบันประเภทสเตียรอยด์ได้เป็นอย่างดี
  • สารสกัดด้วยน้ำมีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบเมื่อให้สารสกัดในขนาด 100 และ 500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมกับหนูขาวทางช่องท้อง โดยพบว่าสามารถช่วยลดอาการบวมของอุ้งเท้าหนูขาวหลังได้รับสารคาราจีแนน (Carrageenan-induced hindpaw edema) แต่จะไม่มีผลเมื่อให้สารสกัดนี้ทางปาก
  • สารสกัดด้วย 50% เอทานอล-น้ำมีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ เมื่อให้สารสกัดในขนาด 250 และ 500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมกับหนูขาวทางปากเมื่อศึกษาด้วยวิธี Carrageenan-induced hindpaw edema
  • จากการศึกษาประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของสารสกัดเถาวัลย์เปรียง ในการใช้รักษาอาการอักเสบจากข้อเข่าเสื่อมกับผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมจำนวน 125 คน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับสารสกัดเถาวัลย์เปรียงในขนาด 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 4 สัปดาห์ และกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาแผนปัจจุบันนาโพรเซน (Naproxen) ในขนาด 250 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 4 สัปดาห์เช่นกัน ผลจากการศึกษาพบว่าสารสกัดเถาวัลย์เปรียงสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดเข่าได้เป็นอย่างดี ทำให้การทำงานของเข่าดีขึ้น และมีความปลอดภัยไม่ต่างจากการรักษาด้วยยาแผนปัจจุบันนาโพรเซน นอกจากนี้อาการข้างเคียงต่าง ๆ เช่น มีอาการหิวบ่อย แสบท้อง จุกเสียดท้อง จะพบได้น้อยกว่าในผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับสารสกัดเถาวัลย์เปรียงแคปซูลเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่รับยาแผนปัจจุบันนาโพรเซน
  • มีรายงานว่าสารสกัดเถาวัลย์เปรียงมีฤทธิ์ในการขยายหลอดเลือด มีผลลดความดันโลหิตและลดอัตราการเต้นของหัวใจในสัตว์ทดลอง ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจยังไม่ควรรับประทานจนกว่าจะมีรายงานความปลอดภัยอย่างแน่ชัด รวมไปถึงผู้ที่เป็นโรคความดันที่รับประทานยาแผนปัจจุบันอยู่ก็ไม่ควรใช้สมุนไพรชนิดนี้ เพราะอาจจะมีผลไปยับยั้งหรือเสริมฤทธิ์ของยาก็เป็นได้ นอกจากจะมีการควบคุมและดูแลอย่างใกล้ชนิดจากแพทย์เจ้าของไข้
  • จากการทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดลำต้นเถาวัลย์เปรียงด้วยเอทานอล 50% ที่ให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังของหนูทดลองในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และให้โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 6,250 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) ตรวจไม่พบว่ามีอาการเป็นพิษ
  • จากการศึกษาความเป็นพิษเรื้อรังของสารสกัดเถาวัลย์เปรียงด้วย 50% เอทานอลกับหนูขาวพันธุ์วิสตาร์ เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยการป้อนสารสกัดในขนาด 6, 60 และ 600 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวของหนู 1 กิโลกรัมต่อวัน หรือให้สารสกัดเทียบเท่ากับผงเถาวัลย์เปรียงแห้ง 0.03, 0.3 และ 3 กรัมต่อน้ำหนักตัวหนู 1 กิโลกรัมต่อวัน (คิดเป็น 100 เท่าของขนาดที่ใช้กับคนต่อวัน) พบว่าสารสกัดเถาวัลย์เปรียงไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของค่าทางโลหิตวิทยา ค่าทางจุลพยาธิของอวัยวะภายใน ค่าทางชีวเคมีของซีรั่ม และไม่พบว่ามีความผิดปกติใด ๆ
  • มีการทดสอบความปลอดภัยกับอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีจำนวน 59 ราย โดยให้อาสาสมัครกินแคปซูลสารสกัดเถาวัลย์เปรียงวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น (ครั้งละ 1 แคปซูล แคปซูลละ 200 มิลลิกรัม) เป็นระยะเวลา 2 เดือน ไม่พบว่าอาสาสมัครมีอาการข้างเคียงแต่อย่างใด[7] และจากผลการศึกษาพบว่าสารสกัดเถาวัลย์เปรียงในขนาด 400 มิลลิกรัม/วัน มีความปลอดภัยเมื่อรับประทานติดต่อกันนาน 2 เดือน และยังสามารถเหนี่ยวนำให้มีการหลั่งของ IL-2, IL-4 และ IL-6 ที่อาจมีส่วนในการช่วยควบคุมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
  • จากการศึกษาประสิทธิภาพในการเพิ่มภูมิต้านทานของเถาวัลย์เปรียงในอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีจำนวน 47 ราย โดยให้รับประทานสารสกัดเถาวัลย์เปรียงด้วย 50% เอทานอล ครั้งละ 1 แคปซูล (ขนาด 200 มิลลิกรัมต่อแคปซูล) วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น เป็นระยะเวลา 2 เดือน พบว่าไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ ค่าทางโลหิตวิทยาและค่าทางชีวเคมีบางค่ามีการเปลี่ยนแปลงแต่อยู่ในช่วงของค่าปกติ สรุปได้ว่าสารสกัดเถาวัลย์เปรียงในขนาด 400 มิลลิกรัมต่อวันมีความปลอดภัยเมื่อรับประทานติดต่อกันเป็นเวลา 2 เดือน และอาจมีส่วนช่วยในการควบคุมหรือเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายด้วย
  1. สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[13]
  2. ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจยังไม่ควรรับประทานจนกว่าจะมีรายงานความปลอดภัยอย่างแน่ชัด รวมไปถึงผู้ที่เป็นโรคความดันที่รับประทานยาแผนปัจจุบันอยู่ก็ไม่ควรใช้สมุนไพรชนิดนี้ เพราะอาจจะมีผลไปยับยั้งหรือเสริมฤทธิ์ของยาก็เป็นได้ นอกจากจะมีการควบคุมและดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์เจ้าของไข้
  3. เถามีสารที่มีฤทธิ์เช่นเดียวกับฮอร์โมนเพศหญิง ดังนั้นจึงควรระมัดระวังหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน
  4. ควรระมัดระวังการใช้ในสมุนไพรชนิดนี้ในผู้ป่วยที่เป็นแผลในกระเพาะอาหาร เนื่องจากเถาวัลย์เปรียงมีกลไกการออกฤทธิ์เช่นเดียวกับยาแก้ปวดในกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drugs: NSAIDs) และการรับประทานสมุนไพรชนิดนี้อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร
  5. อาการไม่พึงประสงค์ของการใช้ยาผงจากเถาวัลย์เปรียง คือ คอแห้ง ใจสั่น ปวดท้อง ท้องผูก ปัสสาวะบ่อย ผิวหนังอักเสบ เป็นผื่นจากการแพ้
  6. อาการไม่พึงประสงค์ของการใช้สารสกัดจากเถาของเถาวัลย์เปรียงที่สกัดด้วย 50% เอทิลแอลกอฮอล์ คือ มีอาการเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ และอุจจาระเหลว

ประโยชน์ของเถาวัลย์เปรียง

  • ยอดอ่อน ใบอ่อน ช่อดอก และผลอ่อนของต้นเถาวัลย์เปรียงสามารถนำมารับประทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริกได้ โดยมีรสมัน
  • รากมีรสเฝื่อนเบา มีสารจำพวก Flavonol ที่มีชื่อว่า สคาเดอนิน (Scadeninm) และนันลานิน (Nallanin) ใช้เป็นยาเบื่อปลาได้ แต่ไม่มีคุณสมบัติในการใช้เป็นยาฆ่าแมลง แต่บ้างก็ว่าใช้เป็นยาฆ่าแมลงได้
  • เถาวัลย์เปรียงเป็นสมุนไพรที่ถูกนำมาใช้ในสูตรยาอบสมุนไพรเพื่อสุขภาพ โดยนำมาใช้เป็นส่วนประกอบเพิ่มเติมจากสูตรยาอบสมุนไพรหลัก เมื่อต้องการอบเพื่อรักษาอาการปวดเมื่อย ปวดเอว ปวดหลัง
  • สมุนไพรเถาวัลย์เปรียงสามารถนำมาใช้แทนยาแผนปัจจุบัน "ไดโคลฟีแนค" (Diclofenac) ในการรักษาอาการปวดหลังส่วนล่าง และใช้แทนยาแผนปัจจุบัน "นาโพรเซน" (Naproxen) ในการรักษาอาการอักเสบจากข้อเข่าเสื่อมได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีความปลอดภัยสูงและมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาแผนปัจจุบันอีกด้วย
    ชมวีดีโอเกี่ยวกับเถาวัลย์เปรียง

 

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “เถาวัลย์เปรียง (Thao Wan Priang)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 139.
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  “เถาวัลย์เปรียง”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  หน้า 119.
  3. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “เถาวัลย์เปรียง”.  หน้า 101.
  4. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “เถาวัลย์เปรียง”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 349-350.
  5. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “เถาวัลย์เปรียง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [17 มี.ค. 2014].
  6. บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร, งานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่.  “เถาวัลย์เปรียง”.  (ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th.  [17 มี.ค. 2014].
  7. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 370 คอลัมน์: เก็บข่าวมาฝาก.  “เถาวัลย์เปรียง รักษาอาการปวด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th.  [18 มี.ค. 2014].
  8. ฐานข้อมูลทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม, ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช.  “เถาวัลย์เปรียง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.culture.nstru.ac.th/~culturedb/.  [18 มี.ค. 2014].
  9. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “เถาวัลย์เปรียง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th.  [15 มี.ค. 2014].
  10. ผู้จัดการออนไลน์.  “สมุนไพรไม้เป็นยา : เถาวัลย์เปรียง สมุนไพรแก้ปวดข้อ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.manager.co.th.  [18 มี.ค. 2014].
  11. นิตยสารมติชนเทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับที่ 534 เดือนกันยายน 2555 หน้าที่ 66.  “เถาวัลย์เปรียง...สมุนไพรแก้เส้นเอ็นขอด”.  อ้างอิงใน: หนังสือเภสัชเวทกับตำรายาแผนโบราณ (จินดาพร ภูริพัฒนาวงษ์).
  12. วารสารเพื่อการวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม ฉบับที่ 4 ประจำเดือนตุลาคม-ธันวาคม พ.ศ.2544.  “เถาวัลย์เปรียง สมุนไพรทางเลือกสำหรับบรรเทาอาการปวดเมื่อย การอักเสบของกล้ามเนื้อและข้อเข่าเสื่อม”.  (ภก.ดร.สัญญา หกพุดซา).
  13. NLEM บัญชียาหลักแห่งชาติ, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข.  “ยาเถาวัลย์เปรียง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/.  [18 มี.ค. 2014].
  14. แคปซูลเถาวัลย์เปรียง อภัยภูเบศร.
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุ๊กกี้(Cookies Policy)

เพื่อเพิ่มประสบการณ์การใช้งานให้ดียิ่งขึ้น และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านกด "ยอมรับ" หรือใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อ ถือว่าท่านยินยอมให้มีการใช้งานคุกกี้ โดยท่านสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและการตั้งค่าคุกกี้ (รวมถึงการปฏิเสธ และการลบ) ได้ที่ นโยบายการใช้คุกกี้