ไมยราบ ชื่อสามัญ Sensitive plant, Sleeping grass, Shameplant
ชื่อวิทยาศาสตร์ Mimosa pudica L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Mimosa hispidula Kunth, Mimosa pudica var. pudica) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยสีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)
ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ กระทืบยอด หนามหญ้าราบ (จันทบุรี), หงับพระมาย (ชุมพร), ก้านของ (นครศรีธรรมราช), ระงับ (ภาคกลาง), หญ้าปันยอด หญ้าจิยอบ (ภาคเหนือ), กะหงับ ด้านของหงับพระพาย (ภาคใต้), หญ้าปันยอบ กะเสดโคก หญ้างับ เป็นต้น
ลักษณะของไมยราบ
- ต้นไมยราบ มีถิ่นกำเนิดในแถบอเมริกาใต้ ซึ่งประเทศไทยได้มีการนำเข้ามาโดยกรมทางหลวงเพื่อนำมาใช้คลุมหน้าดิน โดยจัดเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี มักแผ่ทอดเลื้อยตามพื้นดิน บางครั้งจะสูงถึง 1 เมตร ต้นมีน้ำตาลแดง มีขนาดเล็ก และมีขนหยาบ ๆ ปกคลุมที่ลำต้น แกนก้านใบ ท้องใบ รวมไปถึงช่อดอก และขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด
- ใบไมยราบ จัดเป็นใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น แกนกลางรวมกับก้านใบ มีความยาวประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ส่วนใบย่อยมี 1-2 ใบ มีความยาวประมาณ 1.5-7 เซนติเมตร โดยใบย่อยจะมีอยู่ประมาณ 12-25 คู่ ลักษณะคล้ายรูปขอบขนานหรือคล้าย ๆ รูปเคียวยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร
- ดอกไมยราบ ออกดอกเป็นช่อกลมสีชมพู เป็นดอกเดี่ยวหรือดอกคู่ ออกที่บริเวณซอกใบ ก้านดอกมีความยาวประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร ดอกมีจำนวนมาก ไร้ก้าน มีกลีบเลี้ยงขนาดเล็กมาก ประมาณ 0.1 มิลลิเมตร กลีบดอกจะคล้ายกับรูประฆังแคบ มีความยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร กลีบดอกจะมนกลม มีความยาวประมาณ 0.5-0.8 มิลลิเมตร มีเกสรตัวผู้อยู่ 4 อัน และมีรังไข่ยาวประมาณ 0.5 มิลลิกรัม
- ผลไมยราบ มีลักษณะเป็นฝักแห้ง แบน ยาวเรียว ฝักมีหลายฝักในแต่ละช่อดอก ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ตรง และยาวประมาณ 1.5-1.8 เซนติเมตร มีขนแข็งปกคลุมตามสันขอบผล ส่วนเมล็ดมีสีน้ำตาลอ่อน เมล็ดแบนเป็นสันนูนตรงกลาง หนึ่งผลมีเมล็ดประมาณ 2-5 เมล็ด ผลหักตามรอยคอด
ไมยราบ เป็นพืชล้มลุกที่มีลักษณะพิเศษ คือ หากได้รับแรงสั่นสะเทือน ก้านและใบก็จะตอบสนองด้วยการหุบตัวลงอย่างรวดเร็ว และยังเป็นพืชที่จัดอยู่ในตระกูลและมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับผักกระเฉด
สมุนไพรไมยราบ ในปัจจุบันได้มีการนำไปศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาต่อยอดนำมาใช้เป็นยารักษาโรคเบาหวาน โดยจากงานวิจัยนี้เองก็เป็นตัวตอกย้ำภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยในสรรพคุณของไมยราบ และยังได้มีการยืนยันด้วยว่าการดื่มชาสมุนไพรตัวนี้ต่างน้ำทุกวันก็ไม่มีผลข้างเคียงหรือพิษใด ๆ เลย แม้กระทั่งในสัตว์ทดลองก็ไม่พบถึงอาการผิดปกติแต่อย่างใด นอกจากนี้ไมยราบยังมีสรรพคุณอื่น ๆ อีกมากมาย โดยส่วนที่นำมาใช้ก็ได้แก่ ต้น ราก ใบ และทุกส่วนของต้น (ราก ลำต้น ใบ ดอก ผล)
สรรพคุณของไมยราบ
- ทั้งต้นช่วยบำรุงร่างกาย ต้นแห้งนำมาต้มกับน้ำกินช่วยแก้อาการอ่อนเพลียได้ นำมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำมาตากจนแห้งสนิทและนำมาต้มกินต่างน้ำ สามารถช่วยรักษาโรคกษัยได้ (โรคกษัย คือ โรคสังขารเสื่อม ซูบซีด ผอมแห้งแรงน้อย เบื่ออาหารง่าย มีอาการเจ็บปวดเมื่อยตามตัว โลหิตจาง) ทุกส่วนของต้นนำมาหั่นแล้วคั่วโดยใช้ไฟอ่อน ๆ จะมีกลิ่นหอม สามารถนำไปชงดื่มแทนชา ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลได้ ช่วยขับโลหิต ช่วยแก้เด็กเป็นตานขโมย ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ ช่วยระงับประสาท ช่วยแก้อาการตาบวม ตาเจ็บ ช่วยแก้ไข้ออกหัดช่วยแก้กระเพาะอาหารอักเสบ ช่วยแก้ลำไส้อักเสบ ช่วยแก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ช่วยขับปัสสาวะ ช่วยแก้นิ่ว ขับนิ่ว ช่วยแก้ไส้เลื่อน ด้วยการนำทุกส่วนของต้นมาต้มกิน ช่วยขับระดูขาว ช่วยแก้ไตพิการ ช่วยแก้อาการผื่นคันตามตัว แก้แผลฝี แก้อาการปวดข้อ แก้อาการบวมตามเนื้อตามตัว แก้อาการปวดหลังปวดเอว หรือจะนำมาผสมกับดอกคำฝอย ใบเตยหอม ใบหม่อน ทองพันชั่ง โดยใช้ไมยราบเป็นตัวยาหลักในการต้มดื่มเพื่อสุขภาพและช่วยแก้อาการปวดหลังได้ แก้หัด ช่วยขับน้ำนม
- ช่วยแก้เบาหวาน ลดระดับน้ำตาลในเลือด เพราะสารสกัดน้ำจากต้นและรากของไมยราบขนาด 20 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมสามารถออกฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลได้เทียบเท่ากับการใช้ยามาตรฐานโทลบูตาไมด์ (Tolbutamide) ขนาด 100 มก./กก. น้ำหนักตัว โดยจะออกฤทธิ์ได้อย่างต่อเนื่องนานถึง 5 ชั่วโมง
- รากช่วยในการระงับประสาท ช่วยทำให้ตาสว่าง ช่วยแก้อาการไอ ช่วยขับเสมหะ ช่วยแก้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ช่วยบำรุงกระเพาะอาหาร ช่วยแก้อาการบิด ท้องร่วง ช่วยแก้ปัญหาระบบย่อยอาหารของเด็กไม่ดีได้ ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร ช่วยรักษาโรคปวดเวลามีประจำเดือน
- ใบช่วยแก้เริม งูสวัด ไฟลามทุ่ง รักษาโรคพุพอง แผลเรื้อรัง แผลฝีหนอง อาการปวดบวม
- สารบริสุทธิ์สกัดจากต้นของไมยราบ สามารถนำมาใช้ทำเป็นโทนเนอร์เช็ดหน้าหลังอาบน้ำ เพื่อใช้ฆ่าเชื้อที่เป็นสาเหตุของการเกิดสิวและทำความสะอาดผิวหน้าได้อีกด้วย
ประโยชน์ของไมยราบ
- ประโยชน์ของต้นไมยราบ ดั้งเดิมก็คือการนำมาใช้ปลูกเพื่อคลุมหน้าดิน แต่ก็ยังมีประโยชน์อีกหลากหลายด้าน โดยมีการใช้ลำต้นไมยราบนำมาใช้ทำเป็นรั้วบ้าน ไม้ค้ำผัก หรือนำมาใช้ทำเป็นฟืน หรือใช้เผาถ่านเพื่อประกอบอาหาร รวมไปถึงการใช้ไมยราบสุมไฟให้วัวให้ควาย เพื่อขับไล่ยุง ริ้น ไร ในช่วงพลบค่ำได้อีกด้วย
- นอกจากนี้ประโยชน์ไมยราบด้านอื่น ๆ คือการนำลำต้นของไมยราบมาดัดทำเป็นสิ่งประดิษฐ์ เช่น การทำกรอบรูป การทำเป็นกระถางต้นไม้ในรูปแบบต่าง ๆ เพราะต้นไมยราบเป็นไม้ที่ดัดง่าย สามารถดัดเป็นรูปทรงต่าง ๆ ได้ จะใช้ทำเป็นกระเช้าหรือกระถางใส่กล้วยไม้ หรือไม้ดอกไม้ประดับ รวมไปถึงโครงกระเป๋าต่าง ๆ ก็ได้เช่นกัน
แหล่งอ้างอิง : นพพล เกตุประสาท หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน, สารานุกรมพืชในประเทศไทย (The Encyclopedia of Plants in Thailand), ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ (เต็ม สมิตินันทน์), เว็บไซต์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, เว็บไซต์มูลนิธิสุขภาพไทย, เว็บไซต์สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน), www.gotoknow.org (คุณอานนท์ ภาคมาลี), www.jamrat.net (จำรัส เซ็นนิล)