ตัวเบ็ด มีความสำคัญกับการตกปลา มากพอ ๆกับชุดปลายสายอื่น ๆเนื่องจากว่ามันคือส่วนที่จะเกี่ยวปากปลา และการที่จะทำให้เราได้ปลาหรือไม่ เกี่ยวปากปลาแล้วเป็นอันตรายต่อปลาหรือไม่(กรณีตกปล่อย) ดังนั้นจึงมีการออกแบบตัวเบ็ดออกมามายมายหลายชนิด เพื่อให้เหมาะสมกับการตกปลาแต่ละประเภทด้วย ซึ่งลักษณะตัวเบ็ดแต่ละประเภทก็จะมีบางส่วนที่คล้ายกัน คือส่วนปลายที่มีความแหลมคม เพื่อให้ทะลุทะลวงปากปลาได้อย่างง่ายดาย แต่ส่วนที่แตกต่างกันก็คือตัวเบ็ดบางชนิดจะไม่มีเงี่ยงที่ปลายตัวเบ็ด หรือกระทั่งรูปทรงของตัวเบ็ดก็จะมีลักษณะเป็นตะขอ คล้าย ๆกัน แต่อาจจะแตกต่างกันในเรื่องของวงตะขอ และขนาดความยาวของก้านเบ็ด วันนี้เราจะมาทำความรู้จักตัวเบ็ดประเภทต่าง ๆกันครับ
ก่อนอื่นเรามาดูองค์ประกอบต่าง ๆของตัวเบ็ดโดยรวมกันก่อนครับ
1.ส่วนปลายแหลม หรือพ้อยน์
พ้อยน์ หรือจุด ซึ่งก็คือส่วนสุดท้ายหรือจุดสุดท้ายของตัวเบ็ดนั่นเอง ที่เรียกว่าพ้อยน์หรือจุดก็เพราะมันเล็กมาก ๆนั่นเอง เจ้าส่วนนี้ยังมีรูปแบบที่แตกต่างกันไปอีกดังนี้ครับ
ฮอลโล่ พอยท์ (Hollow Point) ซึ่งก็คือปลายเบ็กที่พุ่งออกไปตรง ๆนั่นเองซึ่งปลายเบ็ดแบบนี้เราจะพบเห็นได้ทั่วไปและคุ้นเคยกับมันเป็นอย่างดี
เคิร์ฟ พอยท์ (Curved in Point) ลักษณะจะคล้ายกับแบบฮอลโล่ พอยน์ แต่ช่วงปลายจะมีลักษณะงุ้มเข้าด้านใน ซึ่งเราจะพบเห็นในตัวเบ็ดที่ใช้ตกปลาน้ำจืดเป็นส่วนมาก ซึ่งอาจจะมีชื่อเรียกอีกแบบหนึ่งว่า Circle Hook นั่นเอง ซึ่งตัวเบ็ดแบบนี้มักจะออกแบบมาสำหรับการตกปล่อยและจะไม่ทำเลี่ยงเบ็ดมาด้วยแต่จะให้ส่วนปลายเป็นตัวล็อคปลาไม่ให้หลุดง่าย และตัวเบ็ดจะเกี่ยวที่ปากปลาเท่านั้น ช่วยลดปัญหาปลากลืนเหยื่อซึ่งจะทำให้ปลาช้ำมากเวลาปลดเบ็ดออก และอาจถึงตายได้ แต่เบ็ดทรงนี้จะช่วยเซพปลาได้ดี
ซุพีเรีย พอยท์ (Superior Point) เป็นปลายเบ็ดที่ไม่กลม เรียว แหลม ซึ่งจะพบได้ในเบ็ดตกปลาทะเล ที่ต้องการความแข็งแรงมาก ๆ
ดับลิน พอยท์ (Dublin Point) ชนิดนี้จะเป็นปลายเบ็ดที่คม เรียว แหลมมากเป็นพิเศษ เพื่อให้สามารถเกี่ยวปากปลาได้อย่างรวดเร็ว
ไนฟ์ เอดจ์ พอยท์ (Knife edge Point) เป็นคมเบ็ดที่มีส่วนสันด้านในของคมเบ็ดคมแบบใบมีด เบ็ดที่มีคมแบบนี้พบอยู่กับเบ็ดตกปลาทะเลที่มีปากเป็นกระดูกแข็ง เช่น ปลาทูน่า ปลากะโทงแทง เพื่อให้สามารถทะลุทะลวงปากปลาได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
นอกจากนี้ยังมีการวางตำแหน่งของคมเบ็ดแตกต่างกันออกไปด้วยนะครับ
1. แบบ เคิร์ฟ (Kirbed) ปลายเบ็ดแบบนี้ถ้ามองไปทางคมเบ็ดจะพบว่าคมเบ็ดแบบนี้จะเบี่ยงไปทางซ้ายมือ นักตกปลาบ้านเราเรียกว่าเบ็ดหน้าเบี่ยง หรือหน้าบิด ไม่ว่าจะเบี่ยงด้านซ้ายหรือขวาเราก็เรียกเหมือนกัน
2. แบบ สเตรท (Stright) ก็คือคมเบ็ดอยู่ในแนวเดียวกับก้านเบ็ด หรือที่เราเรียกกันว่าเบ็ดหน้าตรง
3. แบบ รีเวิร์ส (Reversed) เป็นคมเบ็ดที่เบี่ยงไปทางตรงกันข้ามกับแบบที่ 1 คือเบี่ยงไปทางขวา นักตกปลาบ้านเราอาจไม่ได้สังเกตุว่า เบ็ดหน้าเบี่ยงนั้นมันเบี่ยงไปทางใด เบ็ดหน้าเบี่ยงมีผลต่อการเกี่ยวปากปลาได้ไวกว่าเบ็ดหน้าตรง เนื่องจากแม้ปลาจะเข้ามาทางด้านข้างก็มีโอกาสที่จะโดนคมเบ็ดเกี่ยวได้
การวางคมเบ็ดในลักษณะต่าง ๆก็จะมีการใช้งานแตกต่างกันออกไปตามวัตถุประสงค์ของผู้ตกปลาครับ ทีนี้เรามาดูตรงส่วนที่เรียกว่าเงี่ยง กันบ้าง
ส่วนที่เป็นเงี่ยงเบ็ดนั้นเรียกว่า บาร์บ (Barb)
ตัวเบ็ดทั่วไปจะมีเงี่ยงเบ็ดเพื่อช่วยไม่ให้ตัวเบ็ดไม่หลุดออกจากการเกี่ยวปากหรือส่วนใด ๆของปลาได้โดยง่าย ดังนั้นถ้าจะตกปลาเพื่อการปล่อยไปนักตกปลามักจะบีบเงี่ยงเบ็ดให้พับลงมา เพื่อทำให้การปลดปลาปล่อยทำได้ง่ายขึ้น และก็มีเบ็ดบางรุ่นที่ผลิตออกมาแบบไม่มีเงี่ยงซึ่งเรียกว่า บาร์บเลส ฮุค (Barbless Hook) ซึ่งใช้กับการตกปลาบางกรณี
ส่วนโค้งของตัวเบ็ดเรียกว่า เบนด์ (Bend) ซึ่งหมายถึง โค้งหรืองอ ส่วนโค้งของตัวเบ็ดมีทั้งแบบโค้งทรงกลมและโค้งแบบเอียงคล้ายตัวอักษร ง ในภาษาไทย
ส่วนโค้งด้านในของตัวเบ็ดมาจนถึงปลายคมเบ็ดเรียกว่า โธรท(Throat) ซึ่งหมายถึงคอ ส่วนคอของตัวเบ็ดคงไม่มีนักตกปลาบ้านเราท่านใดให้ความสนใจแต่อย่างใด เพราะไม่รู้ว่ามีประโยชน์อะไรบ้าง แต่จริง ๆแล้วมันมีประโยชน์ครับ คอเบ็ดที่ลึกจะเกี่ยวได้มั่งคงกว่าคอที่ตื้นกว่า
ส่วนกว้างระหว่างคมเบ็ดกับตัวเบ็ดนั้นเรียกว่า แก็บ (GAP) หมายถึงช่องห่าง หรือระยะห่าง ซึ่งวัดจากคมเบ็ดกับตัวก้านเบ็ด ส่วนของตัวเบ็ดทั้ง 3 ส่วน คือส่วนคอเบ็ด (Throat) ส่วนโค้ง (Bend) และช่องห่าง (Gap) ของตัวเบ็ดจะมีความสัมพันธ์กันตลอดไปเพื่อทำให้ตัวเบ็ดเกิดความสมดุลหรือความพอดี
ก้านตัวเบ็ด หรือ แซงค์ (Shank)
ส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญของตัวเบ็ดที่นอกจากจะใช้ประโยชน์ในด้านการตกปลาแต่ละแบบแล้วยังใช้เป็นตัววัดขนาดของตัวเบ็ดอีกด้วย ก้านเบ็ดมีรูปแบบต่าง ๆ กันออกไปตามประเภทของการใช้งาน เท่าที่มีใช้กันอยู่ในวงการตกปลาเท่านั้น ก้านเบ็ดมีแบบดังนี้
สเตรทแชงค์ (Straight Shank) เป็นก้านเบ็ดแบบตรงๆ ซึ่งจะพบเห็นได้ง่ายกว่าแบบอื่นๆ
ฮัมพ์ แชงค์ (Hamped Shank) ตัวก้านเบ็ดจะถูกดัดเป็นลอนคลื่นเล็กน้อย ตรงกลางก้านเบ็ดเพื่อช่วยยึดตัวเหยื่อปลอมบางชนิด
สไลซ์ แซงค์ (Slice Shank) เป็นก้านเบ็ดที่มีเงี่ยงเล็กๆ อยู่ 3-4 อันด้วยกันเพื่อ ใช้ยึดตัวเหยื่อสด เช่น หนอนหรือไส้เดือน นิยมใช้กันในวงการตกปลาน้ำจืดเป็นส่วนใหญ่
เซ็นทรัล ดราฟท์ แซงค์ (Central Draft Shank) เป็นก้านเบ็ดที่ออกแบบมาให้คมเบ็ดฝังเร็วขึ้น มีลักษณะก้านที่บางกว่าก้านเบ็ดชนิดอื่น
เบนด์ ดาวน์ แซงค์ (Bend Down Shank) เป็นก้านเบ็ดที่ออกแบบมาใช้กับเหยื่อปลอมประเภทเหยื่อจิ๊ก (Jig)
สเต๊ฟแซงค์ (Step Shank) เป็นก้านเบ็ดที่ออกแบบมาใช้ป้องกันคมเบ็ดเกี่ยวกับสาหร่าย หรืออุปสรรคใต้น้ำ
รูปแบบของก้านเบ็ดต่างๆ ดังกล่าวนั้น นักตกปลาบ้านเราอาจพบอยู่เพียงบางแบบเท่านั้น เพราะผู้นำเข้ามักจะสั่งเฉพาะตัวเบ็ด ที่ขายได้ง่ายมากกว่า เราจึงไม่ค่อยพบเห็น ตัวเบ็ดรูปแบบแปลกๆ กันเท่าใดนัก ก้านเบ็ดชนิดก้านตรงนั้น มีให้เลือกใช้อยู่ 2 แบบคือ
แบบก้านกลม หรือ Regular เป็นก้านเบ็ดที่เราพบเห็นมากที่สุด ใช้กั้นอยู่กับการตกปลาเกือบทุกประเภท
แบบก้านเหลี่ยม หรือ Forge ก้านเบ็ดประเภทนี้จะพบกับเบ็ดตกปลาทะเลเป็นส่วนมาก วัสดุที่ใช้ทำเบ็ดก้านเหลี่ยมมักจะแข็งกว่าชนิดก้านกลม
นอกจากนี้ก้านเบ็ดยังมีให้เลือกใช้ ทั้งชนิด ก้านสั้น (Shot Shank) และ ชนิดก้านยาว (Long Shank) การเลือกใช้ตัวเบ็ดก้านสั้นหรือยาวขึ้นอยู่กับประเภทงานและประเภทของปลากับลักษณะของเหยื่อที่ใช้เกี่ยวเป็นหลัก ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวโดยตรง นักตกปลามักจะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกใช้กันเอง แต่กระนั้นก็ตามตัวเบ็ดก้านยาวหรือสั้นอาจถูกระบุกับการใช้งานตกปลา บางประเภทโดยเฉพาะ เช่น เบ็ดทูน่า (Tuna Hook) เป็นตัวเบ็ดแบบก้านสั้นเช่นเดียวกับ เบ็ดตกปลาทาร์ปอน (Tapon) ก็จะเป็นแบบก้านสั้นเช่นกัน แต่โดยทั่วไปแล้วตัวเบ็ดที่ใช้ตกปลาทะเลส่วนมากมักจะนิยมใช้ตัวเบ็ดชนิดก้านยาวกันมากกว่า
ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ บทความต่อไปจะนำเสนอเรื่องอะไรก็เชิญเข้ามาอ่านกันอีกนะครับ ขอบคุณครับ