การตกปลา นั้นนับว่าเป็นเกมกีฬาที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นเกมที่มีทั้งความตื่นเต้น เร้าใจ และยังเป็นกิจกรรมการพักผ่อนหย่อนใจไปในตัวอีกด้วย
เป็นเกมกีฬาที่ไม่ต้องลงทุนมากมายและสามารถทำได้ทั่วไปตามแหล่งน้ำสาธารณะ หรือจะเข้าบ่อตกปลาที่เสียเงินก็ยังมีให้เลือกมากมาย การตกปลานั้นก็มีมากมายหลายรูปแบบให้เลือกตามความชอบของแต่ละบุคคล เช่นการตกปลาหน้าดิน ซึ่งต้องอาศัยความอดทนในการนั่งเฝ้าคันเบ็ดรอปลากินเหยื่อ การตกด้วยเหยื่อปลอม การตกชิงหลิว หรือสปิ๋ว การตกแบบฟลาย เป็นต้น แต่การจะตกปลาในแต่ละแบบที่กล่าวมานั้นให้ได้ตัวก็ไม่ใช่จะทำกันได้ง่ายง่าย ๆ ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการหลอกล่อให้ปลามากินเหยื่อของเรา ซึ่งในวันนี้ ผมก็จะมานำเสนอเทคนิคและวิธีการตกปลาหน้าดินมาให้ท่านได้ทราบและนำไปปรับใช้กัน เพื่อที่เวลาออกหมายจะได้ ๆปลาติดไม้ติดมือกลับบ้านไปฝากแม่บ้าน หรือได้รับความตื่นเต้นเร้าใจเวลาสู้กับปลา กันบ้างครับ
การตกปลาหน้าดิน ก็จะแบ่งปลาเหล่านี้ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ นะครับ
1.ปลาเกล็ด ซึ่งก็ได้แก่ปลากินพืชชนิดต่าง ๆที่มีเกล็ด ได้แก่ปลาตระกูลปลาคาร์ฟ หรือปลาตะเพียน เช่น ปลาไน ปลาจีน ปลายี่สก ปลานวลจันทร์ ปลากระโห้ ปลากา และปลาที่กินทั้งพืชและสัตว์น้ำเล็ก ๆ เช่น ปลานิล เป็นต้น
2.ปลาหนัง ซึ่งก็ได้แก่ปลาจำพวก สวาย บึก เทพา เทโพ กดเหลือง กดคัง เป็นต้น
เรามาเริ่มกันที่ปลาเกล็ดกันเลยนะครับ
การตกปลานั้นจะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยากนะครับ เพราะอุปนิสัยการกินเหยื่อของปลาแต่ละชนิดนั้นแตกต่างกัน หากเรารู้ ก็จะเป็นเรื่องง่าย แต่ถ้าเราไม่รู้มันก็เป็นเรื่องยากครับ บางครั้งเราไปตกปลาแล้วปลาไม่ยอมกินเหยื่อทั้ง ๆ ที่ใช้เหยื่อเดียวกันกับเพื่อน แต่ปลากลับกินเบ็ดเพื่อนมากกว่า ก็เพราะว่าการที่ปลาจะกินเหยื่อหรือไม่นั้นมันมีปัจจัยมากมาย เช่น ระดับน้ำ คุณภาพน้ำ ปริมาณอ๊อกซิเจน ลมฟ้าอากาศ เป็นต้น ปลาบางชนิดชอบหากินบริเวณน้ำไม่ลึกมาก เช่นบริเวณที่เป็นป่าสาหร่ายที่มีน้ำไม่เกิน 1-3 เมตร แต่เราเลือกที่จะไปตกตรงบริเวณที่น้ำลึก ก็เลยไม่มีปลามากินเหยื่อ หรือบางที่เป็นแหล่งน้ำที่มีความลึกมากแต่เราใช้วิธีตกหน้าดิน ซึ่งปลาจะไม่ลงไปหาอาหาร หรือปลาบางชนิดหากินกลางน้ำเป็นต้น ดังนั้นการศึกษานิสัยการกินอาหารของปลาก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง ส่วนเหยื่อนั้นผู้เขียนเห็นว่าก็มีส่วนสำคัญ แต่ถึงแม้เหยื่อจะดีแค่ไหน ถ้าตงบริเวณที่ตกไม่มีปลาไปหาอาหาร โอกาสที่ปลาจะเข้ากินเหยื่อเราก็น้อยตามไปด้วย แต่ในทางตรงกันข้าม ถึงแม้เหยื่อเราจะไม่เทพเท่าคนอื่นเขา แต่เราเลือกทำเลเลือกหมายได้ถูกต้องตีเหยื่อลงไปตรงที่ปลาชอบมาหาอาหาร โอกาสที่ปลาจะกินเหยื่อของเราก็มากตามไปด้วย และสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เรานำปลาตัวใหญ่ขึ้นจากน้ำได้นั่นก็คือ อุปกรณ์ของเราต้องเหมาะสม เช่นคันเบ็ด สายเบ็ด และตัวเบ็ด นอกจากนี้แล้ว เราจะต้องมีสติ ไม่ตื่นเต้นจนเกินไปเมื่อเวลาปลากินเหยื่อ ไม่เช่นนั้นแล้วเราอาจจะควบคุมปลาไม่ได้และทำให้ปลายหลุดหรือสายเบ็ดขาด ตัวเบ็ดง้าง เป็นต้น
-เรามาดูชุดอุปกรณ์กันก่อนครับว่าเราควรจะเลือกแบบไหน ในการตกปลานั้นการเลือกอุปกรณ์ตกปลาที่เหมาะสมย่อมมีโอกาสที่จะนำปลาขึ้นจากน้ำได้มากกว่า
-คันเบ็ด การเลือคันเบ็ดที่เหมาะสมย่อมมีโอกาสสู้ปลาแล้วนำปลาขึ้นจากน้ำได้ง่าย มีการแบ่งเวทคันเบ็ดไว้ 9 ระดับ ดังนี้ครับ
แต่ที่เราใช้ตกปลาเกล็ดโดยทั่วไปก็จะใช้เวท UL-MH เป็นหลัก เพราะส่วนมากปลาเกล็ดในธรรมชาติจะไม่ค่อยมีขนาดที่ใหญ่มากนัก จะมีก็เพียง กระโห้ และยี่สกเทศ เท่านั้น ที่จะมีขนาดใหญ่และสู้เบ็ดได้รุนแรง หากเป็นปลาอย่างอื่น ที่มีน้ำหนักต่ำกว่า 10 กก.ลงมา คันระดับ MH หรือ M ก็สามารถที่จะเอาปลาขึ้นจากน้ำได้และหากปลาในแหล่งที่จะไปตกมีขนาดที่เล็กกว่า 2 กก. การใช้คัน UL ตกก็เป็นการตกปลาที่ได้อรรถรสอีกแบบหนึ่งเช่นกัน
-สายเอ็น สายเอ็นหรือสายเบ็ดก็มีผลต่อการตกปลาเช่นกัน หากเราใช้สายไม่เหมาะสม เช่นใช้สายใหญ่เกินไป ปลาอาจจะไม่เข้ามากินเหยื่อ เพราะเกิดความระแวง หรือตีเบ็ดไปไม่ถึงจุดที่ปลาอาศัยอยู่ หรือหากใช้สายเล็กเกินไปเมื่ปลากินเหยื่อสายอาจขาดได้ จึงต้องคำนวณให้เหมาะสมกับขนาดปลาในบริเวณที่เราจะไปตก
-ชุดปลายสาย ชุดปลายสายสำหรับตกปลาหน้าดินนั้นก็จะประกอบไปด้วย ตะกร้อสำหรับปั้นเหยื่อ ซึ่งก็มีหลากหลายรูปแบบ แล้วแต่จะเลือกใช้ ที่สำคัญควรเลือกขนาดให้เหมาะสมกับขนาดเหยื่อที่เราจะปั้นตีนะครับ หากปั้นเหยื่อก้อนใหญ่แต่ตะกร้อใบเล็กเลาตีเหยื่ออาจแตกก่อนลงน้ำได้ หรือหากใช้ตะกร้อใบใหญ่แต่จะปั้นเหยื่อก้อนเล็ก ๆ ก็ทำไม่ได้เพราะเหยื่อจะหุ้มไม่มิดตะกร้อ หรืออาจมีน้ำหนักมากเกินไปสำหรับคันเบ็ดที่เวทอ่อนทำให้ตีเหยื่อไม่ออก สำหรับตะกร้อก็จะเป็นอุปกรณ์ที่ช้ปั้นเหยื่อและผูกตัวเบ็ดติดเอาไว้ อาจใช้เบ็ดตัวเดียว 2 ตัว หรือหลาย ๆ ตัว ก็แล้วแต่พื้นที่ ๆจะตก หากมีอุปสรรคเยอะ เช่น ตอไม้ กิ่งไม้ สวะ หญ้า ก็ควรใช้เบ็ดแค่ตัวเดียวเพื่อป้องกันเบ็ดตัวที่ไม่ได้เกี่ยวปากปลาไปเกี่ยวเอาอุปสรรคเหล่านี้ได้ แล้จะทำให้เราไม่สามารถเอาปลาขึ้นจากน้ำได้ นอกจากนี้แล้ว ชุดปลายสายก็ยังมี ตะกั่ว ลูกหมุน หรือกิ๊ป ซึ่งก็แล้วแต่ว่าแต่ละท่านจะสรรหามาครับ
สำหรับวันนี้เอาไว้แค่นี้ก่อนนะครับ พรุ่งนี้เรามาต่อกันถึงวิธีการตกให้ได้ปลากันครับ
-การดูทำเลตกปลานั้นให้เราตรวจสอบหมายก่อนครับว่ามีปลาอะไรบ้าง ถ้าหมายนั้นมีปลาเกล็ดเป็นหลัก ก็ให้เลือกหมายที่เป็นบริเวณน้ำไม่ลึกมาก คือไม่ควรลึกเกิน 3 เมตร และก็ไม่ควรจะตื้นเกินกว่า 1 เมตร ถ้าได้บริเวณที่เป็นหาดลาดลงไปแล้วมีสาหร่ายขึ้นประปรายก็จะดีมาก เนื่องจากปลาจะชอบเข้ามาหากินสาหร่ายและลูกกุ้ง ลูกหอยและสัตว์น้ำเล็ก ๆ เนื่องจากบริเวณน้ำที่ไม่ลึกมากแสงแดดจะส่องผ่านลงในน้ำได้ทำให้เกิดสาหร่ายและแพลงตอนมากมายจึงเป็นที่ชุมนุมของปลาต่าง ๆและเป็นจุดที่มีออกซิเจนสูงเนื่องจากมีสาหร่ายเยอะ แต่จุดที่น้ำลึกแสงแดดจะส่องถึงได้น้อยทำให้ไม่มีสาหร่ายหรือแพลงตอนมากนัก ปลาก็จะไม่มาหากินบริเวณนี้และจุดที่น้ำลึกมาก ๆ ปริมาณอ๊อกซิเจนก็จะต่ำ ทำให้ปลาขึ้นมาอยู่บริเวณกลางน้ำและผิวน้ำซึ่งอ๊อกซิเจนสูงกว่าเนื่องจากน้ำจะเกิดคลื่นเนื่องจากลมพัดทำให้อ๊อกซิเจนละลายน้ำได้ดีกว่าด้านล่าง ดังนั้นเราอาจจะสังเกตุเห็นว่าบริเวณที่น้ำลึกมาก ๆ เช่นลึกเกินกว่า 10 เมตร ขึ้นไป จะมีปลาขึ้นเป็นจำนวนมากแต่เมื่อไปตกบริเวณนั้นปลากลับไม่กินเหยื่อของเรา เนื่องจากว่าปลานั้นลอยตัวอยู่ใกล้ผิวน้ำนั่นเองเพราะธรรมชาติของปลาต้องโผล่ขึ้นมาฮุบเอาอ๊อกซิเจนบนผิวน้ำไปเพื่อการหายใจบ่อย ๆ หากอยู่ลึกที่หน้าดินก็จะโผล่ขึ้นมาได้ช้า แต่ก็มีปลาบางชนิดเหมือนกัน ที่ชอบอยู่น้ำลึก ๆ ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ ๆ แต่ก็จะไม่ค่อยเข้ากินเหยื่อเราง่าย เนื่องจากปลาเหล่านี้จะไม่ค่อยเคลื่อนตัวไปไหนง่าย ๆ มักจะอยู่กับที่เพื่อสงวนพลังงานและอ๊อกซิเจน ถ้าเราไม่ตีเหยื่อลงไปใกล ๆ จริง ๆ มันก็จะไม่กิน หรือถึงตีไปใกล้ ๆ มันก็จะไม่กินเนื่องจากมันอิ่มแล้วเพราะปลาเหล่านี้ตอนหาอาหารก็จะไปหาบริเวณน้ำตื้นเหมือนกัน แต่พออิ่มก็จะเข้ามาหลบอยู่ในน้ำลึก ดังนั้นการตีเหยื่อไปในบริเวณน้ำตื้นจึงมีโอกาสสูงที่จะมีปลาที่กำลังหิวเหยื่อเข้ามากินเหยื่อของเรามากกว่านั่นเอง นอกจากบริเวณน้ำไม่ลึกมากแล้ว จุดที่ปลาชอบอาศัยอยู่อีกจุดก็คือบริเวณที่เป็นต้นไม้ หรือตอไม้อยู่ในน้ำเพราะธรรมชาติของปลาก็มักจะชอบมาหลบซ่อนศัตรูนั่นเองและบริเวณเหล่านี้ก็จะเป็นที่ ๆน้ำไม่ลึกมากนักปริมาณอ๊อกซิเจนและอุณหภูมิน้ำพอเหมาะแก่การอยู่อาศัย นอกจากนี้ปลาบางชนิดจะชอบหากินบริเวณตอไม้หรือต้นไม้กลางน้ำโดยจะหากินตะไคร่น้ำที่ติดอยู่กับต้นไม้หรือตอไม้ เช่นพวกปลาจีน เป็นต้น
-นิสัยการกินเหยื่อของปลาเกล็ดชนิดต่าง ๆ ก็จะแตกต่างกัน
ปลาไน
ชอบหากินชายฝั่ง ชอบคุ้ยหาอาหารตามชายฝั่งหาลูกกุ้งลูกหอยกินเป็นอาหารดังนั้นการตกปลาไน จึงควรตกใกล้ ๆฝั่งโดยสังเกตุจุดที่ปลาชอบขึ้นมาหายใจซึ่งมักจะอยู่ติดกับชายฝั่ง ประมาณ 2-4 เมตร
ปลานิล
จะชอบสร้างรังไว้บริเวณชายฝั่งน้ำไม่เกิน 1 เมตร โดยขุดดินเป็นหลุมขนาดใหญ่ไว้ เพื่อวางไข่ และมักจะคอยทำความสะอาดรังของตนโดยคาบสิ่งแปลกปลอมออกไป นักตกปลาที่รู้นิสัยของมันก็มักจะตกโดยไม่ต้องใช้เหยื่อโดยจะค่อย ๆ ลากตัวเบ็ดให้ลงไปในรังของมันซึ่งปลานิลก็จะมาคาบออกไปนักตกปลาก็จะอาศัยช่วงนี้วัดเบ็ดเกี่ยวปากหรือลำตัวปลาได้ทันทีการตกปลานิล เนื่องจากปลานิลเป็นปลาที่กินทั้งพืชและสัตว์เล็ก ๆ ก็จะมีการตกในหลายรูปแบบโดยอาจตกโดยใช้กุ้งฝอยเกี่ยวเบ็ด 1-2 ตัว ตกก็ได้ และการตกปลานิลนั้นควรตกบริเวณใกล้ ๆชายฝั่งหรือบริเวณที่น้ำไม่ลึกนักเพราะปลานิลชอบอาศัยบริเวณน้ำตื้น ๆ การตกปลานิลควรใช้เบ็ดตัวเล็ก ๆ เนื่องจากเป็นปลาที่ปากเล็กและค่อนข้างระแวงง่าย หากตกด้วยตะกร้อหน้าดินก็ควรใช้เป็นตะกร้อวิ่ง จะดีที่สุดเพราะจะทำให้ปลาไม่ระแวงเวลาคาบเหยื่อแล้วว่ายออกไป
ปลายี่สกเทศ
จะตีเหยื่อให้ฟุ้งแล้วถึงใช้ปากดูดเหยื่อที่ฟุ้งเข้าปาก นักตกปลาจึงใช้ตัวเบ็ดเกี่ยวเม็ดโฟมเพื่อให้พยุงให้ตัวเบ็ดลอยขึ้น ทำให้เวลาปลาดูดเหยื่อเข้าปากก็จะดูดเม็ดโฟมเข้าไปด้วยทำให้เบ็ดเกี่ยวติดปากปลา
ปลานวลจันทร์
นิสัยการกินค่อนข้างจะขี้ระแวง จะคอยพลิกก้อนเหยื่อไปมาเราจะสังเกตุว่าเวลาปลานวลจันทร์กินเหยื่อ สายเบ็ดมักจะหย่อนลงก่อนเสมอ บางครั้งหย่อนลงจนถึงพื้นเลยก็มีแต่ก็จะแตกต่างจากการหย่อนเพราะเหยื่อหมด เพราะจะหย่อนลงเร็วมาก ถ้าคนที่มีประสบการณ์ก็จะรู้ทันทีว่าปลานวลจันทร์กินเหยื่อแล้ว ก็จะวัดเบ็ดทันที
ปลาจีน(ปลาซ่งฮื้อ)
จะชอบหากินบริเวณกลางน้ำค่อนมาทางผิวน้ำ โดยจะพากันว่ายเป็นฝูงหากินเหยื่อบิเวณชายฝั่ง ห่างประมาณ 2-3 เมตร และบริเวณที่มีตอไม้หรือต้นไม้กลางน้ำ ดังนั้น การตกปลาประเภทนี้จึงควรใช้วิธีตกทุ่นลอย โดยวางสายเบ็ดห่างจากผิวน้ำไม่เกิน 50 ซม. และตีเบ็ดไปบริเวณที่ฝูงปลาจีนชอบว่ายผ่านโดยสังเกตุจากคลื่นน้ำเป็นหลัก การกินเหยื่อของปลาจีนนั้น จะเป็นลักษณะของการใช้ปากชนก้อนเหยื่อให้แตกก่อนแล้วถึงดูดเหยื่อเข้าปาก ดังนั้นการตกจึงไม่จำเป็นต้องเกี่ยวเม็ดโฟมที่ตัวเบ็ดไปด้วย เพราะถ้าเราเกี่ยวเม็ดโฟมตัวเบ็ดก็จะลอยขึ้นเหนือก้อนเหยื่อทำให้ตัวเบ็ดไม่เกี่ยวปากปลา ดังนั้นจึงควรปล่อยให้ตัวเบ็ดห้อยอยู่ข้างก้อนเหยื่อเมื่อปลาเอาปากมาชนก้อนเหยื่อตัวเบ็ดก็จะเกี่ยวปากปลาได้ง่ายเพราะปลาจีนมีปากที่กว้างนั่นเอง
ปลาตะเพียน
เป็นปลาที่กินเหยื่อง่ายและมักเข้าเหยื่อเป็นฝูงดังนั้นการตกปลาประเภทนี้จะค่อนข้างตกง่าย เพราะจะไม่ค่อยเลือกเหยื่อ ตกได้ทั้งแบบหน้าดินและทุ่นลอย โดยส่วนมากจะอาศัยหากินตามชายฝั่ง และบริเวณน้ำไม่ลึกมากนัก
วันนี้เอาไว้แค่นี้ก่อนนะครับ เดี๋ยวพรุ่งนี้จะมาอัพเดทใหม่ครับ
8/10/2563
มาต่อกันเลยนะครับ
-หลังจากเรารู้ถึงนิสัยการหาอาหารของปลาแต่ละชนิดแล้ว ต่อไปเราก็ต้องมาศึกษาว่าปลาแต่ละชนิดชอบกินเหยื่อแบบไหน ถ้าเรารู้ว่าปลาชนิดไหนชอบกินเหยื่อแบบใด เราก็สามารถที่จะเพิ่มโอกาสได้ปลามากขึ้นเช่น หมายที่เราจะไปตกมีปลาหลากหลายชนิดแต่เราต้องการจะได้ปลาชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นหลักเราก็ควรจะใช้เหยื่อที่ปลาชนิดนั้นชอบกิน เช่น ปลายี่สกเทศ ปลานวลจันทร์ ชอบเหยื่อที่มีกลิ่นเปรี้ยวและหอม เราก็ทำเหยื่อที่มีลักษณะอย่างนั้นไปตก หรือถ้าต้องการปลานิล ก็ทำเหยื่อที่หวานหอมมัน ไปตก เป็นต้น หากเราทำเหยื่อรวม ๆ ไป โอกาสที่จะได้ปลาที่เราต้องการก็น้อยเนื่องจากปลาอื่น ๆ อย่างปลาตะเพียน ปลาสร้อย ปลาซิว ก็จะรุมกินเหยื่อหมดเสียก่อน ดังนั้นการทำเหยื่อให้ถูกใจปลาแต่ละชนิดก็มีความสำคัญ แต่ถ้าไม่เน้นปลาชนิดใดชนิดหนึ่ง การใช้เหยื่อปลารวมก็เป็นทางเลือกที่ดี แต่โอกาสจะได้ปลาใหญ่ก็จะน้อยลงเพราะนิสัยการกินเหยื่อของปลาใหญ่จะไม่ค่อยเข้าแย่งอาหารจากปลาเล็ก นอกเสียจากหิวจัดจริง ๆ
-หลังจากการเตรียมเหยื่อตามที่ต้องการเสร็จแล้ว สิ่งสำคัญที่จะลืมไม่ได้ก็คือการผสมและปั้นเหยื่อ การเกี่ยววัสดุล่อที่ปลายเบ็ด การผสมเหยื่อนับเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยในกระบวนการตกปลา ถึงแม้เราจะมีสูตรเด็ดได้สูตรมาจากไหนก็ตามหากขั้นตอนการผสมไม่ถูกต้อง เช่นผสมผิดลำดับขั้นตอน เช่น นำก่อน แล้วถึงใส่รำลงไป ก็จะทำให้เหยื่อจับตัวกันเป็นไตไม่แตกตัวปลากินยากบางครั้งถึงกับไม่กินเลยก็มี เพราะฉนั้นเราต้องคำนึงถึงนิสัยการกินเหยื่อของปลาด้วย ปลาเกล็ดนั้นมักจะชอบคุ้ยเขี่ยเหยื่อให้ฟุ้งลอยน้ำขึ้นมาก่อนที่จะดูดเหยื่อเข้าปาก และมักจะชอบอาหารที่ดูดเข้าปากง่าย ดังนั้นการปั้นเหยื่อแบบที่เมื่อลงไปในน้ำแล้วแตกตัวง่ายฟุ้งกระจายดี ก็ย่อมจะช่วยดึงดูดปลาเข้ามากินเหยื่อได้เร็วขึ้น ตรงกันข้ามหากเราปั้นเหยื่อเหนียว แตกตัวยากโอกาสที่ปลาจะเข้ามากินเหยื่อก็จะน้อยลง หรือเมื่อมาเจอก้อนเหยื่ออาจจะเข้ามาคุ้ยเขี่ย แต่เหยื่อเรากลับไม่แตกฟุ้งทำให้ปลาจากไปเนื่องจากกินเหยื่อไม่ได้ เพราะปลาประเภทนี้จะไม่ใช้วิธีใช้ปากงับเหยื่อ เราจึงจะเห็นอยู่บ่อย ๆ ว่าปลาเล่นเหยื่อแต่ไม่ดึงเบ็ดซะทีก็เพราะสาเหตุนี้เอง อีกสาเหตุที่ปลาเข้าเหยื่อแล้วไม่ติดเบ็ดซักทีก็คือ การใช้โฟมเกี่ยวเบ็ดที่ไม่เหมาะสมกับตัวเบ็ดและปากปลา การใช้โฟมเกี่ยวเบ็ดนั้นต้องคำนึงถึงขนาดของตัวเบ็ด และปลาที่เราจะตกด้วย เช่นตัวเบ็ดขนาดใหญ่ เช่น เบอร์ 10-15 แต่เราใช้โฟมเม็ดนิดเดียวเกี่ยว เม็ดโฟมก็จะไม่สามารถพยุงตัวเบ็ดให้ลอยได้ ทำให้ปลาไม่สามารถดูดโฟมเข้าปากได้ ยกเว้นปลาบางชนิด เช่น ปลากา ปลาไน ซึ่งจะกินเหยื่อโดยใช้ปากดูดกับพื้น ก็จะมีโอกาสติดเบ็ดได้ ดังนั้นการเกี่ยวโฟมก็ต้องคำนึงถึงจุดนี้ด้วย โดยเมื่อเกี่ยวเม็ดโฟมแล้วให้ลองทดสอบจุ่มน้ำดูว่าเม็ดโฟมสามารถพยุงเบ็ดให้ลอยขึ้นได้หรือไม่โดยให้เม็ดโฟมพยุงตัวเบ็ดให้ลอยขึ้นได้เพียงเล็กน้อยก็เพียงพอ เพราะเวลาปลาเข้ามาคุ้ยก้อนเหยื่อเรา แรงน้ำจะช่วยพยุงให้เม็ดโฟมลอยขึ้นมาอีกเหมือนกับเหยื่อที่กำลังฟุ้งออกจากกองเหยื่อนั่นเอง เพราะหากเราใช้เม็ดโฟมใหญ่เกินไป ปลาอาจดูดเข้าปากยาก เพราะปลาประเภทนี้จะมีปากขนาดเล็ก ที่สำคัญการเกี่ยวโฟมนั้นจะต้องเกี่ยวให้ปลายเกสรเบ็ดทะลุเม็ดโฟมด้วย และเลื่อนเม็ดไปไว้ตรงกลาง หรือด้านหลังสุดไม่เช่นนั้นเมื่อปลาดูดโฟมและตัวเบ็ดเข้าปากเบ็ดก็จะไม่สามารถเกี่ยวปากปลาได้
-ตัวเบ็ด ตัวเบ็ดก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ถ้าเราจะตกปลาใหญ่ แต่ใช้เบ็ดตัวเล็กโอกาสที่เมื่อปลากินแล้วเบ็ดจะง้างหรือหักก็มีสูง หรือหากเราตกปลาขนาดเล็ก แต่ใช้ตัวเบ็ดขนาดใหญ่ก็จะทำให้ติดปากปลายากเพราะต้องใช้เม็ดโฟมขนาดใหญ่เกี่ยวตัวเบ็ดทำให้ปลาดูดเข้าปากไม่ได้ จึงต้องจัดหาตัวเบ็ดให้สมดุลกับปากปลาที่เราจะตกด้วย หากปลาที่กินเบ็ดแบบระแวง เช่นปลานิล ซึ่งมีขนาดไม่ใหญ่นักโดยรวมแล้วปลาชนิดนี้ในธรรมชาติจะมีจนาดประมาณ 3 กก.ซึ่งก็จะมีน้อยมาก โดยทั่วไปก็จะพบประมาณ 1.5 กก.ลงมา การใช้เบ็ดทรงจินุ ประมาณเบอร์ 1-3 ก็สามารถเอาตัวขึ้นได้และเบ็ดทรงนี้จะมีความบางและคมมากจึงเหมาะกับการตกปลาที่กินเหยื่อแบบระแวง บางท่านอาจใช้ตัวเบ็ดเบอร์ 0.5-1 และใช้คันที่ค่อนข้างอ่อนในการตกก็ได้ถ้าในหมายนั้นไม่มีปลาใหญ่มากนัก ส่วนการตกปลาประเภท ยี่สกเทศ นวลจันทร์ กระโห้ ก็ปรับขนาดตัวเบ็ดให้ใหญ่ขึ้นตามขนาดของปลาในแต่ละหมาย ในหมายที่มีอุปสรรคเยอะ เช่นตอไม้กิ่งไม้เยอะ ก็อาจต้องใช้อตัวเบ็ดที่ใหญ่ขึ้นและใช้เพียงตัวเดียวเพื่อลดปัญหาการติดตอ และเบ็ดไม่ง้างเวลาอัดปลาเพราะต้องอัดปลาแบบปิดเบรคแน่นไม่เปิดโอกาสให้ปลาดึงสายเข้าไปพันตอได้
-สายเอ็น สายเอ็นก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน หากเราจัดหาสายเอ็นมาใช้ไม่เหมาะสมโอกาสได้ปลาก็จะลดลง สายเอ็นที่จะนำมาใช้ ควรจะต้องมีคุณสมบัติเหมาะสมกับแหล่งหรือหมายตกปลาด้วย เช่นบริเวณที่โล่ง ๆ ไม่มีอุปสรรค ปลาขึ้นน้ำไกล กินเหยื่อไกล เราก็ควรที่จะใช้สายเอ็นที่มีขนาดเล็กเพื่อที่จะช่วยให้ตีเหยื่อได้ไกลขึ้น แต่ก็ต้องคำนึงถึงขนาดตัวรอกที่ใช้ ขนาดปลาในแหล่งนั้น หากมีปลาใหญ่ ๆ เยอะการใช้สายเล็ก ๆ โอกาสที่สายจะขาดก็มีเยอะหรือหากเราใช้รอกตัวเล็กแต่ใช้สายใหญ่ก็ไม่สามารถใส่สายให้มากพอที่จะตีถึงหมายได้ และหากหมายที่มีอุปสรรคเยอะก็ต้องใช้สายเอ็นที่ใหญ่หรือมีแรงดึงมากกว่าปกติ หลายท่านเข้าใจว่าแหล่งที่มีอุปสรรคเยอะควรจะใช้สาย พีอี ซึ่งมีหน้าตัดเล็กและทนแรงดึงสูงกว่าสายเอ็น ซึ่งจริง ๆ และไม่ควรจะทำเช่นนั้น เพราะสายพีอี หากเกี่ยวกับกิ่งไม้หรือตอไม้แล้วหากสายเป็นรอยหรือส้นใดเส้นหนึ่งขาดจะทำให้แรงดึงลดลงทันที และมีโอกาสที่จะขาดได้ง่ายหากเจออุปสรรคประเภทที่มีเหลี่ยวคม เช่นหิน การใช้สายเบ็ดในการตกปลาตามแหล่งหมายเหล่านี้จึงควรใช้สายเอ็นที่มีความคงทน เช่น สายฟูออโรคาร์บอน จะดีกว่า เพราะจะทนต่อการขูดขีดได้ดีกว่าสายประเภทอื่น
-รอกตกปลา ในส่วนของรอกตกปลาก็มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งการใช้รอกที่เหมาะสมย่อมได้เปรียบและมีโอกาสได้ปลามากกว่า และเหนื่อยน้อยกว่าคนอื่น เช่นถ้าเราจะตกปลาขนาดเล็กก็ควรใช้รอกตัวเล็ก ๆ เช่นขนาดเบอร์ 500-2500 เป็นต้นเพราะไม่จำเป็นต้องใส่สายที่มีขนาดใหญ่หรือตีเหยื่อไกล ๆ หากใช้รอกที่มีขนาดใหญ่ไปตก เช่น เบอร์ 5000-6000 หรือใหญ่กว่านั้นก็จะมีปัญหาตามมาเช่น สายที่ใช้มีขนาดใหญ่ ทำให้ปลาระแวง หากใช้สายขนาดเล็กก็จะเปลืองสายโดยใช่เหตุ และที่สำคัญคือน้ำหนักที่มากเกินไป รอกเบอร์ขนาดนี้บางรุ่นหนักเกิน 0.8 กก. เลยทีเดียวทำให้เราเหนื่อยและเมื่อยแขนได้ง่ายเพราะปลาเล็กมักจะกินเหยื่อเร็ว และกินถี่ทำให้ต้องวัดเบ็ดบ่อย ๆ ดังนั้นจึงต้องจัดหารอกตกปลาให้เหมาะสมด้วย
-การจัดปลายสาย ตรงส่วนนี้ก็สำคัญ เราต้องสังเกตุว่าหมายที่เราจะไปตกนั้นลมแรง คลื่นแรง น้ำแรง หรือไม่ หากไม่มีลมไม่มีคลื่น น้ำนิ่ง ชุดปลายสายเราอาจใช้แค่ตะกร้อปั้นเหยื่อหุ้มก็เพียงพอ เพราะจะทำให้สายหน้าเบา ปลากินโดยไม่ระแวง แต่ทางที่ดีก็ควรใส่ตะกั่วลูกเล็ก ๆ ไว้สักลูกเพื่อล็อคตะกร้อไม่ให้กลิ้งหนีกองเหยื่อออกไปไกล หากมายนั้นลมแรง คลื่นแรง หรือน้ำไหล ก็ควรใช้ตะกั่วลูกใหญ่เพื่อให้ล็อคตะกร้อไม่ให้เคลื่อนหนีกองเหยื่อ ถ้าเราทำได้ตามที่ผมเขียนมานี้ เชื่อเหลือเกินว่าท่านไปตกปลาที่ใดจะไม่ได้กินแห้วแน่นอน
สำหรับบทความตอนนี้ก็จะขอจบเอาไว้เพียงเท่านี้ก่อนนะครับ สำหรับการตกปลาหนังนั้นจะขอไปรับใช้ในบทความต่อไปนะครับ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับเพื่อน ๆนักตกปลาไม่มากก็น้อย หากมีสิ่งใดผิดพลาดก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย สวัสดีครับ