ปลานวลจันทร์เทศ เป็นปลาที่มีพื้นเพเดิมอยู่ในตอนเหนือของประเทศอินเดีย ปลาตัวนี้เป็นปลาชนิดหนึ่งในจำนวน 3 ชนิดจากประเทศอินเดียที่ได้นำเข้ามาในประเทศไทย ได้แก่ ปลายี่สกเทศ ปลานวลจันทร์เทศ และปลากะโห้เทศ ปลานวลจันทร์เทศได้ถูกนำเข้ามาประเทศไทย 2 ครั้งด้วยกัน
ครั้งแรกเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2523 โดย น.ท.สว่าง เจริญผล อธิบดีกรมประมง โดยนำพันธุ์ปลานี้มาจากบังกลาเทศประมาณ 100 ตัว ภายหลังได้นำมาเลี้ยงและทดลองเพาะพันธุ์ที่สถานีประมงน้ำจืด จังหวัดเชียงใหม่ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก
ครั้งที่สองเป็นพันธุ์ปลาที่นำพันธุ์มาจากประเทศลาว และทราบในโอกาสต่อมาว่า ดร. วี อาร์ พันทูลู (Dr. V.R. Pantulu) ผู้เชี่ยวชาญประมงด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการพัฒนาแม่น้ำโขง เป็นผู้นำมาจากประเทศอินเดีย และมอบให้สถานีประมงท่าโง่น ประเทศลาว ต่อมา มร.เอ็ม วี กุปตา (Mr.M.V. Gupta) ผู้เชี่ยวชาญประมงโครงการพัฒนาแม่น้ำโขงตอนล่าง ได้เป็นผู้นำเอาปลานวลจันทร์เทศนี้มาจากสถานีประมง ท่าโง่น เป็นปลาขนาดพ่อ-แม่พันธุ์ หนักประมาณ 700-800 กรัม จำนวน 8 คู่ และ ลูกปลาจำนวนประมาณ 500 ตัว มามอบให้สถานีประมงจังหวัดกาฬสินธุ์เมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2525 และได้ทำงานเพาะพันธุ์สำเร็จในปีเดียวกันนั้น จากนั้นพันธุ์ปลาดังกล่าวก็ถูกนำไปเพาะเลี้ยงในสถานีประมงอื่น และฟาร์มเอกชนต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉืยงเหนือ และแพร่ลงมาในภาคกลางในปีต่อมา
แหล่งกำเนิดและการแพร่กระจาย
เป็นปลาที่มีกำเนิดดั้งเดิมแถบแคว้นอัสสัมของประเทศอินเดีย ประเทศปากีสถาน บังกลาเทศ และพม่า ปลานวลจันทร์เทศเป็นปลาที่ชอบอาศัยอยู่ในแม่น้ำ และอ่างเก็บน้ำ เป็นปลาที่ได้รับการคัดเลือก ถ้าว่าเหมาะสมสำหรับเลี้ยงในบ่อ หนอง บึง เป็นปลาที่ไม่แพร่พันธุ์เองในบ่อเลี้ยง แต่บางครั้งอาจแพร่พันธุ์เองได้ในอ่างเก็บน้ำ หากมีสภาพและภาวะที่เหมาะสม ในประเทศอินเดียได้มีการรวบรวมพันธุ์ตามแม่น้ำ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อนำมาทำการเลี้ยง
หลังจากที่ได้นำพันธุ์ปลาชนิดนี้เข้ามาในประเทศไทย ได้ถูกนำไปเลี้ยงที่สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ 19 มกราคม 2524 และได้ทำการเพาะขยายพันธุ์แบบผสมเทียมสำเร็จเป็นครั้งแรกเมื่อ 25 พฤษภาคม 2525 ต่อจากนั้นทางสถานีฯ ก็ได้ปรับปรุงวิธีการเพาะพันธุ์และขยายพันธุ์ไปยังที่อื่นๆ อีก จนเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย
รูปร่างลักษณะ
ปลานวลจันทร์เทศเป็นปลามีเกล็ด วงศ์เดียวกับปลาตะเพียนขาว ปลาไน ฯลฯ มีรูปร่างป้อม ด้านข้างค่อนข้างแบน ความยาวของส่วนหัวเป็น 1/5 ของความยาวของส่วนตัว ความกว้างของส่วนหัวเท่ากับส่วนยาวหลังลูกตา ซึ่งอยู่ส่วนล่างและเป็นครึ่งหนึ่งของส่วนหัว มีหนวด 1 คู่ ฐานของครีบหลังอยู่ใกล้มาทางจะงอยปากมากกว่าฐานของครีบหาง ขนาดของเกล็ดปานกลาง เกล็ดเส้นข้างตัว 40-45 เกล็ด ครีบหางเว้าลึก ลำตัวมีสีเงิน และมีสีเทาเข้มทางด้านหลัง ส่วนบริเวณครีบอก ครีบท้อง และครีบก้นมีสีชมพูอ่อน ตามีสีทอง
ลักษณะเพศ
เพศผู้มีลำตัวเรียวยาว ครีบหูมีตุ่มเล็กๆ เมื่อใช้มือลูบครีบหูจะรู้สึกสากมือ เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ช่องเพศมีลักษณะเป็นวงรีเล็ก ถ้าใช้มือบีบช่องท้องใกล้อวัยวะสืบพันธุ์จะมีน้ำสีขาวข้นไหลออกมา
เพศเมืยมีลำตัวอ้วนป้อม ครีบหูลื่นไม่สากมือเหมือนตัวผู้ เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ส่วนท้องจะขยายใหญ่ขึ้นเห็นชัดเจน พื้นท้องนิ่ม ช่องเพศเป็นวงกลมบวม มีสีชมพูอ่อนๆ
อุปนิสัยและคุณสมบัติบางประการ
ความเป็นอยู่ นิสัยการกินอาหาร อาหาร อายุและการเจริญเติบโต การผสมพันธุ์และวางไข่ ความดกของไข่ ลักษณะของไข่ มีดังนี้
ความเป็นอยู่
เป็นปลาที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำ หนอง บึง และอ่างเก็บน้ำได้ดี มีความสามารถปรับตัวเข้ากับธรรมชาติในแหล่งน้ำดังกล่าว ตลอดจนในบ่อเลี้ยงและนาข้าวได้ดี
อาหารและการกินอาหาร
ปลาชนิดนี้เป็นปลาที่หากินตามพื้นท้องนา ชอบกินซากสัตว์และสัตว์ที่เน่าเปื่อยหรือกินได้ทั้งอาหารประเภทพืชและสัตว์ และบางทีก็หาอาหารตามระดับกลางน้ำได้ด้วยลูกปลาขนาดเล็กจนถึง 2.5 ซม. ชอบกินแพลงก์ตอนประเภทสัตว์ โดยเฉพาะกุ้ง และโรติเฟอร์ ส่วนแพลงก์ตอนประเภทพืชอาจกินบ้างในบางโอกาส ปลาใหญ่กินสาหร่ายสีนํ้าเงินแกมเขียว และสาหร่ายสีเขียวเป็นเส้น พวกเศษเล็กๆ ของพืชชั้นสูง ซึ่งเมื่อรวมกันเข้าก็ประมาณ 50% ของอาหารที่ปลากินทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นพืชเน่าเปื่อย โคลน และ อินทรียสารในดิน
การเจริญเติบโต
การเจริญเติบโตจากแหล่งน้ำธรรมชาติในแม่น้ำคงคา และแม่น้ำยมนาประเทศอินเดีย พอสรุปได้ดังนี้
-ปลาอายุ 1 ปี ในแม่นํ้าคงคา ขนาดยาวสุดเฉลี่ย 29.09 ซม. หนัก 245.7 กรัม ส่วนแม่น้ำยมนาขนาด 26.8 ซม.
-ปลาอายุ 2 ปี ในแม่น้ำคงคา ขนาดยาวสุดเฉลี่ย 51.14 ซม. หนัก 1,512.0 กรัม ส่วนแม่น้ำยมนาขนาด 45.84 ซม.
-ปลาอายุ 3 ปี ในแม่น้ำคงคา ขนาดยาวสุดเฉลี่ย 67.05 ซม. หนัก 3,618.0 กรัม ส่วนแม่น้ำยมนาขนาด 64.42 ซม.
การเจริญเติบโตจากบ่อเลี้ยงที่สถานีประมงนํ้าจืดจังหวัดเชียงใหม่นั้น ปล่อยลูกปลาขนาด 5-7 ซม. ลงบ่อขนาด 200 ม.2 โดยเลี้ยงรวมกับปลากะโห้เทศเป็นระยะเวลาประมาณ 10 เดือน ปรากฎว่าปลาโตขึ้นยาว 38-40 ซม. หนัก 700-800 กรัม
มีรายงานเกี่ยวกับการเจริญเติบโตถึงขั้นมีนํ้าเชื้อและไข่แก่ เมื่อปลามีอายุประมาณ 1 ปี ในประเทศอินเดีย และยังได้กล่าวว่า ปลาตัวผู้จะมีขนาดพอผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุถึงปลายปีที่ 1 ส่วนตัวเมียจะมีไข่หลังจากนั้น ปลาที่มีอายุดังกล่าวจะมีขนาดยาวประมาณ 35 ซม.
ในประเทศไทยมีรายงานเกี่ยวกับอายุของปลาชนิดนี้ที่เลี้ยงในบ่อที่สถานีประมงน้ำจืด จังหวัดเชียงใหม่ พบว่าปลามีไข่และน้ำเชื้อดี เมื่อปลาที่นำไปเลี้ยงอายุประมาณ 1 ปี 6 เดือน (นำไปจากสถาบันประมงนํ้าจืด แห่งชาติไปเลี้ยงเมื่อลูกปลามีขนาด 5-7 ซม.) ประมาณว่าหากรวมอายุของลูกปลาขนาดเมื่อก่อนเลี้ยงและเลี้ยงแล้ว ควรประมาณ 1 ปี 8 เดือน ปลามีขนาดหนัก 1.2-1.7 กก. ได้มีรายงานจากสถานีประมงนํ้าจืดจังหวัดชัยนาทเลี้ยงปลานวลจันทร์เทศรวมกับปลาชนิดอื่นในบ่อดินขนาด 4-5 ไร่ รวมกับปลาชนิดอื่นเมื่ออายุ 1 ปี ได้ปลาขนาด 800-1,200 กรัม และเมื่ออายุได้ 1 ปี 3 เดือน ก็สามารถนำมาเพาะขยายพันธุ์ได้
ความดกของไข่
มีรายงานของสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดชัยนาท เกี่ยวกับความดกของไข่ ปลานวลจันทร์เทศ คือแม่ปลาขนาด 1 กก. มีไข่ 80,000-110,000 ฟอง นอกจากนั้นยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับความดกของไข่ปลาชนิดนี้อีก แต่ที่ประเทศอินเดียได้มีสถิติเกี่ยวกับความดกของไข่ปลาชนิดนี้ที่จับได้จากแม่น้ำยมนาและอาราฮาบัด พอจะใช้เป็นข้อ ข้อสังเกตดังนี้
แม่ปลาขนาดหนัก 5,897 กรัม น้ำหนักรังัไข่ 745 กรัม มีไข่1,103,025 ฟอง
แม่ปลาขนาดหนัก 5,897 กรัม น้ำหนักรังไข่ 125 กรัม มีไข่181,685 ฟอง
แม่ปลาขนาดหนัก 6,971 กรัม น้ำหนักรังไข่ 373 กรัม มีไข่685,201 ฟอง
แม่ปลาขนาดหนัก 7,031 กรัม นํ้าหนักรังไข่ 349 กรัม มีไข่456,682 ฟอง
แม่ปลาขนาดหนัก 7,144 กรัม นํ้าหนักรังไข่ 1,506 กรัม มีไข่1,798,164 ฟอง
ลักษณะ ขนาดของไข่ และการฟักไข่
ปลาชนิดนี้มีไข่ลักษณะกลมเหมือนปลาตะเพียนขาว เป็นไข่ประเภทครึ่งลอยครึ่งจม เมื่อวางไข่ใหม่ๆ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 มม. ไข่ของปลาที่ได้รับการผสมน้ำเชื้อเมื่อถูกน้ำจะพองขยายเป็น 4-5.5 มม. และจะฟักออกเป็นตัวภายใน 15-20 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 26-28° ซ. ตัวอ่อนที่ฟักออกเป็นตัวใหม่ๆ จะมีขนาด 6.5 มม.
การเพาะพันธุ์
ปลานวลจันทร์เทศเป็นปลาอีกชนิดหนึ่งของพวกปลาอินเดีย ซึ่งไม่วางไข่ในบ่อเลี้ยง ดังนั้น ในการเพาะพันธุ์จึงนิยมใช้วิธีฉีดฮอร์โมนเร่งให้ปลาวางไข่เช่นเดียวกับปลายี่สกเทศและกะโห้เทศ
ในการเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้ก็มีการปฏิบัติเช่นเดียวกับการเพาะพันธุ์ปลายี่สกเทศ กล่าวคือ
การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์
ในการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์เพื่อใช้ในการเพาะพันธุ์ใช้หลักเดียวกับการคัดพ่อแม่พันธุ์ทั่วๆ ไปของพวกปลาตะเพียนขาว ปลายี่สกเทศ
อายุของปลาควรประมาณ 1 1/2-4 ปี และมีขนาด 1.5-3 กก.ขึ้นไป
การผสมพันธุ์
ในการผสมพันธุ์ใช้ได้ทั้ง 2 วิธี คือ
1. วิธีช่วยธรรมชาติ ได้แก่ การฉีดฮอร์โมนเร่งให้ปลาวางไข่ และน้าเชื้อแก่แล้วปล่อยให้ผสมกันเอง วิธีนี้นิยมทำกันในฟาร์มที่มีบ่อเพาะพันธุ์และอุปกรณ์เพาะพันธุ์ค่อนข้างพร้อม เป็นการเพาะ พันธุ์ที่ให้ผลผลิตพันธุ์ปลาค่อนข้างสูง
2. วิธีผสมเทียมโดยตรง ได้แก่ การฉีดฮอร์โมนเร่งให้ปลาวางไข่ และน้ำเชื้อแก่ แล้วนำปลาที่รีดไข่ผสมน้ำเชื้อของพ่อปลา การเพาะพันธุ์แบบนี้สะดวกสำหรับการเพาะพันธุ์ของเอกชน ซึ่งไม่มีบ่อ เพาะที่พร้อม หรือเอกชนซึ่งมีกิจการเพาะพันธุ์ปลาในระยะเริ่มแรก ในการดำเนินงานแบบนี้ก็ปฎิบัติเป็นขั้นตอนแนวเดียวกับการเพาะพันธุ์ปลายี่สกเทศ
ส่วนการฉีดฮอร์โมนนั้นใช้ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองเพียงอย่างเดียว ไม่จำเป็นจะต้องใช้ฮอร์โมนสกัดผสมด้วย ส่วนปริมาณของฮอร์โมนที่ใช้นั้นอยู่ที่สิ่งแวดล้อมของฤดูที่จะเพาะพันธุ์ หากเป็นการเพาะพันธุ์ในระยะที่ปลาวางไข่ หรือไข่แก่มากที่สุด (peak) เช่นประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน แล้วฉีดแม่พันธุ์เพียงครั้งเดียวด้วยขนาด 1.2-1.5 โดสก็พอ ส่วนพ่อพันธุ์นั้นแทบจะไม่ต้องฉีดเลยก็ได้ แต่ถ้าไม่ใช่ระยะฤดูดังกล่าว เช่น กรกฎาคม-สิงหาคม อาจต้องฉีดถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกฉีด 0.5 โดส และ ครั้งที่ 2 ฉีด 2 โดส เว้นระยะห่างกันประมาณ 6 ชั่วโมง หลังจากนั้นอีกประมาณ 6-8 ชั่วโมง ก็นำพ่อแม่ปลามาปล่อยผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ หรือรีดไข่ผสมนํ้าเชื้อได้สำหรับตัวผู้ ถ้าหากเห็นว่าน้ำเชื้อไม่สมบูรณ์พอ ก็ฉีดฮอร์โมนขนาด 0.5 โดส พร้อมกับการฉีดให้แก่แม่พันธุ์ครั้งที่ 2 เพื่อให้พ่อปลามีน้ำเชื้อแก่ทันการผสมพันธุ์หรือรีดไข่
ต่อมใต้สมองที่ใช้ส่วนมาก เป็นต่อมเก็บจากปลาไน ปลาจีน เช่นเดียวกับต่อมที่ใช้ฉีดในปลายี่สกเทศ และปลาตะเพียนขาว
ในการผสมพันธุ์ทั้ง 2 วิธีดังได้กล่าวคือ หลังจากการฉีดฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองแล้ว ก็นำพ่อแม่ปลามาผสมพันธุ์กัน หรือรีดไข่ผสมนํ้าเชื้อ ซึ่งขั้นตอนทั้ง 2 วิธีนั้น ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับการผสมพันธุ์ของปลายี่สกเทศ และปลาตะเพียนขาว
ในประเทศอินเดีย ได้มีการทดลองผสมข้ามพันธุ์ (hybrid) กันระหว่างปลากะโหเทศ ยี่สกเทศ และนวลจันทร์เทศ ปรากฏผลเป็นที่น่าพอใจ
การฟักไข่
ในการฟักไข่ปลานวลจันทร์เทศนั้น ให้ใช้วิธีการเดียวกันกับปลายี่สกเทศ และปลาตะเพียนขาวเช่นกัน
การอนุบาล
การอนุบาลลูกปลานวลจันทร์เทศวัยอ่อนนั้น ก็มีวิธีการปฏิบัติ เช่น การอนุบาลลูกปลายี่สกเทศ กล่าวคือ หลังจากเมื่อฟักออกเป็นตัวหมดแล้ว ก็ย้ายไปเลี้ยงไว้ในกระชังผ้าโอล่อนแก้ว โดยให้ไข่แดงและนมผง หลังจากลูกปลาอายุ 1-2 วัน ให้ไฃ่แดงและนมผงจนลูกปลามีอายุ 3-5 วัน ก็ให้ปล่อยลงอนุบาลในบ่อดิน ซึ่งเตรียมล่วงหน้าไว้ก่อนแล้ว
การอนุบาลในบ่อดินนี้ควรปล่อยลูกปลาในอัตรา 400-600 ตัว/ม.2 อาหารที่ให้ประจำวันแก่ลูกปลาดังกล่าว ได้แก่ รำข้าว และกากถั่วป่น หรืออาจให้อาหารเสริมสำหรับลูกปลา สูตร สปช.11 ซึ่งประกอบด้วย ปลาป่นอัดน้ำมัน 30% รำละเอียด 45% กากถั่วป่น 24% วิตามิน + แร่ธาตุ 1% โดยร่อนผ่านตะแกรงขนาด 16×16 นิ้ว แล้วนำมาผสมกันอีกครั้งหนึ่ง วันละ 2 เวลา คือ เช้าและบ่าย
จากผลของการทดลองที่เลี้ยงด้วยอาหารสูตร สปช. 11 เมื่อปล่อยลูกปลาในอัตรา 400 ตัว/ม.2 ลงบ่อดินอนุบาลได้ 20 วัน ลูกปลาจะมีขนาด 2.7-3.5 ซม. ซึ่งเมื่อเทียบการเจริญเติบโตของลูกปลาตะเพียน เเละปลาชนิดอื่นๆ แล้วจัดอยู่ในพวกที่เจริญเติบโตได้เร็วมากชนิดหนึ่ง
การเลี้ยง
ในการเลี้ยงปลานวลจันทร์เทศในประเทศไทยนั้น เท่าที่ปรากฏในรายงานมีการเลี้ยงในปอดิน การเลี้ยงในนา และการปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่
การเลี้ยงในบ่อดินนั้นไม่นิยมเลี้ยงปลาชนิดเดียว แต่นิยมเลี้ยงแบบรวมกับปลาชนิดอื่น นอกนั้นก็มีการเลี้ยงแบบผสมผสานซึ่งเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่นๆ โดยมีสุกรและเป็ดเป็นหลัก ส่วนการเลี้ยงในนา และการปล่อยลงในแหล่งน้ำธรรมชาติก็เป็นการเลี้ยงแบบรวมกับปลาชนิดอื่นๆ ทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม มีวิธีการและแบบการเลี้ยงที่พอจะใช้เป็นหลักเท่าที่มีอยู่ดังต่อไปนี้
การเลี้ยงในบ่อดิน
การเลี้ยงแบบชนิดเดียว การเลี้ยงด้วยวิธีนี้แม้จะไม่ค่อยนิยมกันนัก เพราะในทางปฏิบัติแล้ว การเลี้ยงปลาแบบรวมนั้นจะให้ผลผลิตดีกว่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เลี้ยงแบบชนิดเดียวไม่ได้ สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดหนองคาย ได้แนะนำโดยมีหลักการ ดังนี้
1. ต้องใช้ปุ๋ยจากมูลสัตว์มาใส่บ่อปลา และทำปุ๋ยหมักไว้ในบ่อปลา เพื่อให้เกิดอาหารธรรมชาติ ตลอดจนพืช สัตว์ในบ่อดิน
2. ให้พืชผักหรือเศษที่เหลือใช้หรือขาย ซึ่งเป็นอาหารเสริมราคาถูก
3. อาหารจำพวกรำปลายข้าวต้มผสมกับผักเช่นที่เลี้ยงปลาในบ่อทั่วๆ ไป
4. การปล่อยปลาชนิดนี้ลงบ่อดิน ควรเป็นอัตรา 2,000-3,000 ตัว/ไร่
การเจริญเติบโตในบ่อดินที่สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดชัยนาท มีรายงานปี 2529 ได้สรุปไว้ว่า ปล่อยปลาขนาดยาว 10 ซม. ลงในบ่อเลี้ยงในอัตรา 2 ตัว/ม.2 โดยให้อาหารซึ่งประกอบด้วยปลายข้าวต้ม 8 ส่วน รำ 6 ส่วน ปลาป่น 2 ส่วน อาหารที่ให้ 5% ของนํ้าหนักตัว เป็นระยะเวลา 3 เดือน ปลามีขนาด 17.09-18.67 ซม. น้ำหนัก 44.24-50.28 กรัม และสถานีฯ แห่งเดียวกันนี้ได้เลี้ยงปลาชนิดนี้เมื่อปี 2526 ใช้เวลา 1 ปี 3 เดือน ได้ปลาขนาด 800-1,200 กรัม
ส่วนการเลี้ยงแบบรวมและการเลี้ยงแบบผสมผสานในบ่อดินนั้น เป็นแบบที่เลี้ยงที่มีการนิยมมากในหมู่ผู้เลี้ยงเป็นอาชีพทั่วไป
การเลี้ยงในนาข้าว
ไม่มีรายงานบันทึกไว้เป็นหลักฐาน เกี่ยวกับการเลี้ยงปลานวลจันทร์เทศในนา แต่จากการไปดูงานเลี้ยงปลาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่าง 28 สิงหาคม-3 กันยายน 2530 ได้ทราบว่าเริ่มมีการนำเอาพันธุ์ปลานวลจันทร์เทศปล่อยเลี้ยงในนากันบ้างแล้ว โดยเฉพาะที่อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ได้เล่าถึงการปล่อยลูกปลานวลจันทร์เทศรวมกับปลาชนิดอื่นๆ เช่น ปลานิล ปลาไน ปลาตะเพียนขาว เกล็ดเงิน และหัวโต ในเนื้อที่นา 2-5 ไร่ โดยอาศัยปุ๋ยจากคอกหมูที่เลี้ยงไว้ข้างนา และรำข้าวบางครั้งบางคราว ปรากฎ ปลานวลจันทร์เทศมีการเจริญเติบโตดีมาก
การปล่อยลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ
โครงการพัฒนาทำนบปลาประจำหมู่บ้านและโครงการสร้างงานในชนบท (กสช.) ได้พิจารณาปล่อยปลาชนิดนี้ลงในแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มผลผลิตรวมกับพันธุ์ปลาชนิดอื่นๆ เพราะเห็นว่าเป็นปลาที่เจริญเติบโตเร็ว และมีอัตรารอดสูงชนิดหนึ่ง
แม้ว่าปลานวลจันทร์เทศ จะเป็นปลาที่มีการเลี้ยงไม่แพร่หลายในระยะ 5-6 ปีที่แล้วมา แต่ก็เป็นปลาที่น่าสนใจ และมีแนวโน้มว่า จะได้รับความนิยมในการเลี้ยงมากขึ้น โดยเฉพาะการเลี้ยงแบบผสม ผสาน ซึ่งทางสถานีประมงน้ำจืด จังหวัดกาฬสินธุ์ได้ทดลองเลี้ยงในปี 2527 โดยเลี้ยงรวมกับปลานิล ตะเพียนขาว ปลาไน ปลายี่สกเทศ ปลาหัวโต ปลาเกล็ดเงิน ปลากินหญ้า ปลาสวาย และปลาบึก โดยใช้สุกร และเป็ด เป็นสัตว์บกที่ให้มูลลงบ่อโดยไม่มีการให้อาหารปลาเลย นอกจากมูลสัตว์ที่ล้างลงบ่อเท่านั้นใช้เวลาเลี้ยงปลา 10 เดือน ปรากฎว่าปลานวลจันทร์เทศโตเร็ว และมีอัตรารอดสูง เมื่อเทียบกับปลานิล ปลาตะเพียนขาว และปลายี่สกเทศ ส่วนผลของการปล่อยลงในทำนบปลานั้นเท่าที่ทราบจากการบอกเล่าจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมของสถานีประมงเอง ก็บอกว่าได้ผลดี เพราะมีการเจริญเติบโตเร็วเป็นที่พอใจของชาวบ้านอย่างมาก