imagesในช่วงนี้กระแสบอนสีมาแรงพร้อมกับไม้ใบด่างอีกหลายชนิด จากไม้ประดับธรรมดา ๆที่ไม่มีใครสนใจ กลับกลายมาเป็นไม้ประดับราคาแพงเพียงชั่วข้ามคืน บอนสีนั้นมีมากมายหลายชนิด มีทั้งประเภทใบสีเดียวจนไปถึงหลากหลายสี และจากในสีจาง ๆไปจนถึงใบที่มีสีสันเข้มจัด สวยงามอีกมากมาย แต่ก็ใช้ว่าเพียงแค่สีเข้มหรือมีหลายสีแล้วจะเป็นบอนที่มีราคาแพงได้ ยังมีองค์ประกอบอีกหลายอย่างที่ทำให้บอนสีมีราคาแพง วันนี้เราจะมาทำความรู้จักบอนสีกันครับว่ามันมีความเป็นมาอย่างไร

44 caladium plant 009

 

บอนสีเป็นไม้ประดับที่มีต้นกำเนิดอยู่ทวีปอเมริกา และแพร่หลายในยุโรป ในประเทศไทยนั้นมีบันทึกการนำเข้าบอนสีจากยุโรปมาในปี พ.ศ. 2425 บอนสีโบราณที่นิยมในยุคนั้นชื่อว่า “กระนกกระทา” และ “ถมยาประแป้ง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกในปี พ.ศ. 2440 ได้ทรงนำบอนสีกลับเข้ามาปลูกในพระบรมมหาราชวัง สร้างความนิยมให้กับฝ่ายใน โดยยุคนั้นสายพันธุ์ที่มีชื่อเสียง คือ “บอนสีเจ้ากรุงไกเซอร์” และ “บอนสีเจ้ากรุงเดนมาร์ก” ภายหลัง “บอนสี” เป็นที่นิยมเลี้ยงเล่นกันในหมู่ขุนนางเจ้านาย และมีผู้นำไปถวายวัดต่างๆ โดยนำหน่อ เมล็ด ไปแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน และจัดประกวดกันในกลุ่ม 5 สถานที่รวมตัวของนักเล่นบอนสีในกรุงเทพมหานครเมื่อครั้งอดีต ได้แก่

1. สนามบาร์ไก่ขาว ต่อมาเป็นที่ตั้งร้านศรแดง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
2. วัดอินทรวิหาร ย่านบางขุนพรหม
3. บ้านเจ้าคุณทิพย์โกษา คลองบางลำพู
4. วัดสระเกศ ภูเขาทอง
5. ร้านเสาวรส หลังห้างเสาวรส ย่านบางลำพู

ประวัติบอนสีในประเทศไทย

พ.ศ. 2425 : พระยาวินิจอนันกร บันทึกว่าฝรั่งสั่งบอนสีเข้ามาปลูก

พ.ศ. 2449-2459 : มีบันทึกว่าชาวต่างชาติชื่อมะโรมิ เลนซ์ สั่งบอนสีมาขาย และขยายพันธุ์

พ.ศ. 2450 : รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป ทรงนำ “เจ้ากรุงไกเซอร์”และ “เจ้ากรุงเดนมาร์ก” เข้ามาปลูก สร้างความนิยมให้ฝ่ายใน

พ.ศ. 2472 : เจ้านายฝ่ายในนิยมเลี้ยง และขยายออกสู่วัดวา อารามต่างๆ ที่เจ้านายนำไปถวาย บอนตระกูลไก่ ก็นิยมในยุคนี้

พ.ศ. 2475 : บอนสี “นกยิบ” ซื้อขายกันในราคา 10 ชั่ง ถือได้ว่าเป็นบอนไม้ประดับที่มีราคาสูง

พ.ศ. 2497: นายชลอ ทองสุพรรณ ริเริ่มประกวดบอนสีที่สมาคมพฤกษชาติ

พ.ศ. 2501 : ประกวดบอนสีที่ทีวีช่อง 4

พ.ศ. 2525 : ก่อตั้งสมาคมบอนสีแห่งประเทศไทย มีสนามหลวงเป็นตลาดบอนสีที่ใหญ่ที่สุด

บอนสี ที่เราพบเห็นนั้นจะเห็นได้ว่ามีรูปแบบของต้นและใบแตกต่างกันออกไปตามแต่ละสายพันธุ์ เรามาดูกันว่ามันมีกี่ประเภทกันครับ

บอนใบไทย1

บอนใบไทย "มิ่งมงคล"

1. บอนใบไทย ใบรูปหัวใจ ปลายใบแหลม ก้านใบกลมออกจากกึ่งกลางใบ หูใบฉีกไม่ถึงสะดือ ได้แก่ สาวน้อยประแป้ง ม่านนางพิม ไก่ราชาวดี พญามนต์ พญาเศวต(ตันแพลง) สร้อยแสงจันทร์ ปาเต๊ะ เป็นต้น

บอนใบยาว

บอนใบยาวชื่อ "ฮกหลง"

2. บอนใบยาว ใบรูปหัวใจคล้ายบอนใบไทย แต่ใบเรียวกว่า ปลายใบเรียวแหลม ก้านใบกลมออกจากโคนใบหู ใบยาวฉีกถึงก้านใบ ได้แก่ กรวยทอง คุณหญิง จักรราศี ไชยปราการ หงส์เหิน กวนอิม ฮกหลง เป็นต้น

บอนสีใบกลม

บอนใบกลมชื่อ "อนัญญา"

 3. บอนใบกลม ใบค่อนข้างกลม ปลายใบมนหรือมนมีติ่งแหลม ก้านใบกลมอยู่กึ่งกลางใบ ได้แก่ บางกอก เมืองสยาม ยูเรนัส เมืองพัทยา เมืองชล เมืองสุวรรณภูมิ เป็นต้น

บอนใบกาบ

บอนใบกาบชื่อ"โซนพิจิตร"

4. บอนใบกาบ ใบคล้ายรูปหัวใจ ก้านใบแผ่แบนตั้งแต่โคนใบถึงแข้ง ลักษณะคล้ายใบผักกาด ได้แก่ ทุ่งบางพลี ขันธกุมาร เทพลีลา เรือนแก้ว อังศุมาลิน รัชมงคล เป็นต้น

บอนใบไผ่

บอนใบไผ่ชื่อ "อุษามณี"

5. บอนใบไผ่ ใบรูปแถบ รูปใบหอกแคบ หรือเป็นเส้น ปลายใบเรียวแหลมคล้ายใบไผ่ หูใบสั้นมาก (หูรูด) ความกว้างของใบไม่เกิน 2 นิ้ว เช่น ไผ่กรุงเทพฯ ไผ่จุฬา ไผ่ธารทิพย์ ไผ่ธารมรกต ไผ่ศรศิลป์ ไผ่สวนหลวง  เป็นต้น

 

นอกจากจะมีการจำแนกประเภทตามลักษณะของใบแล้ว ยังมีการจำแนกลักษณะของการกัดสีที่ใบอีกด้วยนะครับ

บอนไม่กัดสี

บอนไม่กัดสีชื่อ "พันเรือง"

1. บอนไม่กัดสี คือบอนสีที่มีสีคงที่ ไม่เปลี่ยนแปลงตั้งแต่ยังเล็กจนโตเต็มที่ หรืออาจมีสีเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย แต่ยังคงสีเดิมให้เห็น เช่น นายจันหนวดเขี้ยว บอนสีตับวีรชน เป็นต้น เป็นบอนใบไทยที่มีสีแดงตั้งแต่ต้นเล็กจนโตเต็มที่

บอนกัดสี

บอนใบกัดสีชื่อ "นายดอกรัก"

2. บอนกัดสี คือบอนสีที่มีการเปลี่ยนแปลงของสีสัน เมื่อยังเล็กใบเป็นสีเขียว พอโตเต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีชมพูหรือสีแดง และอาจมีจุดหรือแต้มสีเกิดบนใบ ส่วนใหญ่เป็นบอนลูกผสมใหม่ เช่น กัลยา นายดอกรัก จังหวัดนราธิวาส พระยามุจลินท์ หยกประกายแสง ไผ่ธารมรกต ศรีลำดวน รัตนาธิเบศร์ เป็นต้น

บอนป้าย

บอนป้ายชื่อ "ชายชล"

3. บอนป้าย คือบอนสีที่มีแถบด่างสีแดงพาดทับบนแผ่นใบสีเขียว ซึ่งเริ่มแสดงลักษณะตั้งแต่ใบที่ 1 หรือ 2 เช่น อัปสรสวรรค์ เทพเทวฤทธิ์ เพชรจรัสแสง ศรีกาญจนาภิเศก ชายชล เป็นต้น

บอนด่าง

บอนด่าง

4. บอนด่าง คือบอนสีที่มีพื้นด่างสีขาวอมเขียวอ่อนหรือหรือขาวอมแดงบนพื้นใบสีเขียวหรือใบด่างเหลือง เช่น บัวสวรรค์ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ โชคอำนวย เป็นต้น

 

ก็คงจะได้รู้จักบอนสีประเภทต่าง ๆกันบ้างแล้วนะครับ เวลาไปเจอบอนสีตามที่ต่าง ๆหรือที่เราปลูกเอาไว้ จะได้ทราบและจำแนกออกว่ามันเป็นบอนประเภทใดบ้าง สำหรับบทความนี้ก็ต้องขอจบไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อนนะครับ พบกันใหม่ตอนหน้า จะนำสิ่งดี ๆมาให้ทุกท่านได้อ่านกันอีกครับ

 

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุ๊กกี้(Cookies Policy)

เพื่อเพิ่มประสบการณ์การใช้งานให้ดียิ่งขึ้น และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านกด "ยอมรับ" หรือใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อ ถือว่าท่านยินยอมให้มีการใช้งานคุกกี้ โดยท่านสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและการตั้งค่าคุกกี้ (รวมถึงการปฏิเสธ และการลบ) ได้ที่ นโยบายการใช้คุกกี้