tubtim

ทุกวันนี้ยังคงมีคนถามถึงประเด็นของปลาทับทิมว่าเป็นปลาหมันหรือไม่ ขยายพันธุ์ได้หรือเปล่า ผศ.ดร.เรืองวิชญ์ ยุ้นพันธ์ ในฐานะนักวิชาการสายประมงก็ต้องขอบอกด้วยความมั่นใจว่า ปลาทับทิมไม่ได้เป็นหมันอย่างที่สงสัยแต่ประการใด เพราะปลาตัวเมียสามารถตั้งท้องและให้ลูกได้ตามปกติเหมือนสัตว์เพศเมียทั่วไป

ส่วนที่มาของข้อสงสัยน่าจะเกิดจากการที่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาจะนิยมเลี้ยงปลาเพศผู้มากกว่าเพศเมีย ทำให้เกษตรกรที่คิดจะทดลองผสมพันธุ์เองก็จะหาปลาตัวเมียได้น้อย จึงนำไปสู่ข้อสงสัยว่าปลาทับทิมเป็นหมัน เพราะเพาะพันธุ์ไม่ได้

ผศ.ดร.เรืองวิชญ์ ยุ้นพันธ์ ภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายว่า หลายคนคงยังไม่รู้จักธรรมชาติของปลาทับทิม วันนี้จึงต้องขออธิบายก่อนในเบื้องต้นเพื่อประกอบการทำความเข้าใจในเหตุผลและความจำเป็นที่เกษตรกรจะเลือกปลาเพศผู้ไปเลี้ยง

ธรรมชาติข้อแรก : โครงสร้างของปลาเพศผู้มีความใหญ่โตและแข็งแรงกว่าเพศเมีย ปลาทับทิมเพศผู้โตเต็มที่อาจได้ขนาดถึง 1-1.2 กิโลกรัมต่อตัว ขณะที่เพศเมียเลี้ยงได้โตเต็มที่ อาจมีขนาดได้เพียง 5-6 ขีดเท่านั้น

ข้อที่สอง : ธรรมชาติของปลาทับทิมเพศผู้ก็คือผสมพันธุ์ตลอดเวลา แทบไม่มีว่างเว้น เมื่อใดที่เห็นเพศเมียก็เป็นอันต้องมีกิจกรรมร่วมกัน ทำให้ไม่สนใจที่จะกินอาหาร ขณะที่เพศเมียก็จะต้องอุ้มท้องอยู่ตลอดเวลา แทบไม่ว่างเว้นเช่นกัน นี่จึงเป็นเหตุผลที่เกษตรกรเลือกที่จะไม่เลี้ยงปลาเพศผู้ปนกับเพศเมีย เนื่องจากตัวผู้จะกินอาหารได้มากขึ้น

ข้อที่สาม : โดยปกติปลาเพศเมียจะมีลักษณะตามธรรมชาติคือแม่ปลาจะอมไข่ไว้ในปาก ทำให้ไม่สามารถกินอาหารได้ในระหว่างการดูแลไข่และลูกปลาวัยอ่อน

ข้อที่สี่ : เมื่อปลาตัวเมียออกลูกบ่อย ปัญหาจากการเลี้ยงปลาแบบรวมเพศ ก็จะทำให้เกิดจำนวนลูกปลาแน่นบ่อ ปลาที่เลี้ยงทั้งหมดจะเติบโตได้ไม่เต็มที่

อันที่จริง หากเรายอมรับว่าปลาทับทิมเป็นปลาเศรษฐกิจของไทยที่ผู้เลี้ยงต้องการเลี้ยงเพื่อเป็นอาชีพ เพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว ก็จะเข้าใจในเบื้องต้นทันทีว่า เกษตรกรจะต้องเลือกประสิทธิภาพการผลิตปลาที่จะนำมาซึ่งรายได้สูงสุด โดยต้องพยายามลดความเสี่ยงในด้านผลตอบแทนลง ด้วยการใช้เทคโนโลยีประมงสมัยใหม่เข้ามาช่วย ซึ่งหากบริหารจัดการได้ นั่นหมายถึงการลดต้นทุนและผลตอบแทนที่จะได้มากขึ้นนั่นเอง

เมื่อได้รับข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับธรรมชาติของปลาแล้ว ก็จะเข้าใจได้ว่าการเลี้ยงปลาคละกันทั้งเพศผู้และเพศเมียจะทำให้ผลผลิตของเกษตรกรมีประสิทธิภาพต่ำ ขณะเดียวกันก็รู้ว่าปลาตัวผู้จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

ดังนั้นแนวทางแก้ปัญหาที่ได้ผลดีที่สุดของเกษตรกรก็คือ ทำอย่างไรจึงจะได้ปลาทับทิมเพศผู้ล้วนๆ ในการเลี้ยง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถวางแผนการผลิตได้ นำไปสู่การจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลตอบแทนที่สูงแก่เกษตรกร

ลักษณะเด่นอีกข้อหนึ่งของปลานิล หรือปลาทับทิม ก็คือในช่วงปลาวัยอ่อนจะยังไม่ปรากฏเพศซึ่งกลายเป็นช่องว่างให้นักวิทยาศาสตร์สามารถหาวิธีเหนี่ยวนำเพศปลาให้เป็นไปตามต้องการได้

ปัจจุบันเกษตรกรจึงเลือกเทคโนโลยีผลิตลูกปลาเพศผู้ในฟาร์ม ด้วยวิธีผสมฮอร์โมนสังเคราะห์ในอาหารให้ลูกปลากิน เป็นวิธีที่สะดวก ต้นทุนไม่สูงและมีประสิทธิภาพในการเหนี่ยวนำเพศลูกปลาให้เป็นเพศผู้ได้สูงถึงกว่า 95%

d82659aae2595bef1673fe5cba828535cd44dbc6f097aadb8c73cf94cfec0d51

รายงานทางวิทยาศาสตร์จากเอกสารทางวิชาการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติที่น่าเชื่อถือ ยืนยันว่า ฮอร์โมนเพศผู้ที่ใช้เหนี่ยวนำเพศลูกปลามีปริมาณต่ำมากและไม่ก่ออันตรายผู้บริโภคได้ เนื่องจากใช้ในช่วงเวลาสั้นๆ ในขณะที่เป็นลูกปลาวัยอ่อน เป็นระยะเวลาเพียง 21-28 วันตั้งแต่ลูกปลาเริ่มกินอาหารเท่านั้น และจะใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 6-8 เดือนกว่าจะเลี้ยงปลาให้ได้ขนาดที่ตลาดต้องการซึ่งปริมาณฮอร์โมนที่ใช้เพียง 60 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมอาหารในช่วงการเหนี่ยวนำเพศลูกปลาประกอบกับกลไกทางชีวเคมีภายในร่างกายตลอดระยะเวลาที่เลี้ยงทำให้ฮอร์โมนถูกเมตาบอไลท์และจะถูกขับทิ้งไปกับสิ่งขับถ่าย ส่วนปลาเพศเมียก็สามารถนำไปเพาะพันธุ์ตามธรรมชาติได้ต่อไป

ดังนั้นจงเข้าใจว่าปลาทับทิมไม่ได้เป็นหมัน เพียงแต่ปลาส่วนใหญ่ (95%) เป็นเพศผู้เท่านั้นเอง ข้อมูลนี้พิสูจน์ได้จริงในเชิงวิทยาศาสตร์

1363764161

ด้าน รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอบข้อสงสัยดังกล่าว ในเฟสบุ๊กแฟนเพจ “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์” เกี่ยวกับ "ปลาทับทิม ไม่ได้เป็นหมัน ... มันแค่มีแต่ตัวผู้" ว่ากระแสปั่นให้หวาดกลัว "ปลาทับทิม" กลับมาอีกแล้ว คลิป "ปลาทับทิมหมัน ซีผีทำหมัน" นี้ถูกแชร์กันไปในวงกว้าง แต่ไม่ใช่ที่ข้อมูลที่ถูกต้องอะไรครับ เพราะปลาทับทิมไม่ได้เป็นหมัน มันแค่มีแต่ "ตัวผู้" เท่านั้น การที่เกษตรกร มักจะเข้าใจผิดว่า ปลาทับทิมเป็นหมัน ไม่สามารถเอาไปขยายพันธุ์ต่อได้นั้น จนบางคนนึกว่ามันเป็นปลา GMO ดัดแปลงพันธุกรรม หรือลือกันไปขนาดที่ว่า ถ้าคนกินเข้าไป ก็จะเป็นหมันตามไปด้วย ... อันนี้ไม่จริงเลย เพราะปลาทับทิมไม่ได้เป็นหมัน แต่พวกมันถูกทำให้เป็นตัวผู้ตั้งแต่เล็กๆ วิธีการทำให้เป็นตัวผู้นั้น ก็ทำด้วยการให้ฮอร์โมนเพศผู้กับลูกปลา ซึ่งตอนที่ยังเล็กๆ จะยังไม่มีเพศชัดเจนและจะพัฒนาขึ้นเป็นเพศได้ก็ขึ้นกับระดับของฮอร์โมนเพศที่ม้ันสร้างขึ้น

ทั้งนี้ปลาเพศผู้นั้น เหมาะแก่การเพาะเลี้ยงมากกว่า เพราะโตเร็ว เนื้อเยอะ น้ำหนักดี ต่างจากปลาตัวเมียที่โตช้า แถมกินจุอีก ความจริงแล้ว ตอนนี้ ปลาทับทิมที่ขายกันอยู่ในท้องตลาดก็ไมได้มีแต่พันธุ์ของซีพีเท่านั้น มีหลากหลายเจ้ามาก แต่ถ้าเป็นของซีพี มันก็จะมีพอมั่นใจได้เกี่ยวกับเรื่องความสมบูรณ์ของสายพันธุ์ ขณะที่แนวทางการเพาะเลี้ยง ที่ดูเหมือนจะมีข้อแนะนำเยอะแยะไปหมด ว่าต้องกินอาหารตามสูตรนี้ของซีพี ต้องทำกระชัง ต้องปรับสภาพน้ำนั้นก้เพราะเค้าวิจัยมาแล้วว่านี้คือได้ผลผลิตดีสุด ซึ่งถ้าไม่ทำตาม ก็ไม่เป็นไร แต่ผลผลิตก็แย่ลงก็เท่านั้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุ๊กกี้(Cookies Policy)

เพื่อเพิ่มประสบการณ์การใช้งานให้ดียิ่งขึ้น และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านกด "ยอมรับ" หรือใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อ ถือว่าท่านยินยอมให้มีการใช้งานคุกกี้ โดยท่านสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและการตั้งค่าคุกกี้ (รวมถึงการปฏิเสธ และการลบ) ได้ที่ นโยบายการใช้คุกกี้