qbหนอนชอนใบ นับเป็นปัญหาสำคัญของเกษตรกรชาวสวนมะนาวอีกอย่างหนึ่ง และนับว่าเป็นแมลงศัตรูของมะนาวโดยแท้จริงเพราะพืชตระกูลส้ม เช่น มะนาว มะกรูด ส้มโอ

นั้นเป็นที่ชื่นชอบของเจ้าแมลงชนิดนี้เป็นอย่างมาก บางท่านที่เป็นเกษตรกรมือใหม่ที่ไม่ทราบวิธีแก้ปัญหาก็แทบจะหมดกำลังใจจนเลิกปลูกกันเลยทีเดียว และเจ้าหนอนชอนใบยังเป็นสาเหตุของการเกิดโรคอีกชนิดหนึ่งที่สำคัญของพืชตระกูลส้มก็คือโรคแคงเกอร์นั่นเอง

หนอนชอนใบ เป็นตัวอ่อนของผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็กชนิดหนึ่ง ความกว้างขณะกางปีกออก เพียง 0.8 มิลลิเมตร เท่านั้น เพศเมียตัวเต็มวัยหลังผสมพันธุ์แล้ว บินมาวางไข่ที่ผิวใบอ่อนของมะนาว ที่มีอายุ 1-7 วัน ไข่มีขนาดเล็กกว่าหัวเข็มหมุด หากไม่สังเกตจะมองไม่เห็น รูปร่างกลมรี สีเหลืองใส ไข่ฟักออกเป็นตัวภายในเวลา 3 วัน แล้วเจาะเข้าไปชอนไชภายในใบอ่อนมะนาวเพื่อดูดกินน้ำเลี้ยงและเซลล์อ่อนของใบระยะเป็นตัวหนอน 7-10 วัน จากนั้นจะเข้าดักแด้เป็นเวลา 5-10 วัน อยู่ในใบมะนาว ก่อนฟักออกเป็นผีเสื้อตัวเต็มวัย ลักษณะการทำลาย มองเห็นเป็นทางสีขาว คดเคี้ยวไปมาตามทางที่ตัวหนอนเคลื่อนผ่าน ต่อมาใบจะหงิกงอ การระบาดรุนแรง ใบและต้นมะนาวแคระแกร็น การระบาดเกิดขึ้นได้ตลอดปี แต่มักระบาดรุนแรงระหว่างเดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนกันยายน นอกจากหนอนชอนใบเข้าทำลายมะนาวแล้ว ยังสามารถเข้าทำลายได้ทั้งส้มโอ ส้มเขียวหวาน และมะกรูด ประการสำคัญ หนอนชอนใบยังเป็นตัวเร่งให้เกิดการระบาดของโรคแคงเกอร์อีกด้วย

การป้องกันกำจัด เมื่อพบการระบาดระยะแรก ให้เด็ดใบอ่อนที่หนอนชอนใบเข้าทำลาย นำไปเผาไฟไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของหนอนชอนใบอีกต่อไป แล้วฉีดพ่นด้วยอิมิดาโคลพริด หรือ อะบาเม็กติน อัตรา 16 ซีซี และ 10 ซีซี ต่อน้ำ 1 ปี๊บ ชนิดใดชนิดหนึ่งให้ทั่วทั้งทรงพุ่ม เมื่อผ่านช่วง 7 วัน ไปแล้ว ใบเริ่มแก่หรือเข้าวัยที่เรียกว่า ใบเพสลาด การระบาดของหนอนชอนใบจะไม่ปรากฏให้เห็นอีกต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุ๊กกี้(Cookies Policy)

เพื่อเพิ่มประสบการณ์การใช้งานให้ดียิ่งขึ้น และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านกด "ยอมรับ" หรือใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อ ถือว่าท่านยินยอมให้มีการใช้งานคุกกี้ โดยท่านสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและการตั้งค่าคุกกี้ (รวมถึงการปฏิเสธ และการลบ) ได้ที่ นโยบายการใช้คุกกี้