ปกมะนาวนับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกกันทั่วทุกภาคของประเทศไทย เนื่องจากเป็นไม้ผลที่มีประโยชน์และนิยมใช้กันทุกครัวเรือน ใช้เป็นเครื่องปรุงอาหารได้หลากหลายเมนูไม่ว่าจะเป็น ต้มยำ แกง ยำ น้ำจิ้มต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่ใช้มะนาวเป็นเครื่องปรุงรสเปรี้ยวแทบจะทั้งสิ้น เนื่องจากรสเปรี้ยวของมะนาวจะมีกลิ่นหอมแตกต่างจากสารให้รสเปรี้ยวชนิดอื่น ดังนั้นทุกครัวเรือนของไทยจึงมักจะไม่ขาดมะนาว นั่นก็ทำให้มะนาวจะมีราคาแพงมากในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากมะนาวจะติดผลน้อย การปลูกมะนาวดูเหมือนจะง่ายแต่จริง ๆแล้วกว่าจะเป็นลูกมะนาวมาให้เราได้ใช้ ชาวสวนมะนาวมักจะเจอสิ่งที่เป็นปัญหาทั้งโรคและแมลงรบกวนจนบางครั้งผู้ปลูกมะนาวมือใหม่อาจถึงกับท้อเลยทีเดียว แต่สำหรับมือเก่าก็คงไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่เนื่องจากมีประสบการณ์ในการจัดการปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างดี โรคที่ชาวสวนมะนาวมักจะเจอกันประจำและเมื่อเกิดระบาดขึ้นมาแล้วจะควบคุมยากมากและมักจะเกิดในสวนมะนาวที่การดูแลจัดการสวนไม่ค่อยดี นั่นก็คือโรคแคงเกอร์ นั่นเอง เรามาทำความรู้จักและมาหาวิธีป้องกันโรคนี้กันดีกว่าครับ

    โรคแคงเกอร์เกิดจากเชื้อ Xanthomonas axonopodis pv. citri เชื้อตัวนี้จะเข้าทำลายพืชจำพวกตระกูลส้ม เช่น ส้มเขียวหวาน ส้มโอ มะนาว เป็นต้น มักจะเกิดในช่วงหน้าฝนที่มีอากาศชื้น เชื้อโรคจะอยู่ในอากาศและมักจะเกิดได้ในทุกส่วนของพืช เช่น ใบ กิ่ง และผล 

001441255724 urtj o

    ลักษณะอาการของโรค เมื่อเกิดที่ใบ จะทำให้ใบมีอาการเป็นจุดเหลืองจาง ๆ ทั่วบริเวณใบในช่วงใบอ่อน และจะเริ่มชัดขึ้นเป็นจำดสีน้ำตาลในช่วงใบเริ่มแก่ ยิ่งใบแก่ก็จะเห็นชัดขึ้นและจะกินใบมะนาวจนเป็นรู หากมะนาวต้นใดเป็นโรคนี้เยอะจะทำให้มะนาวไม่แข็งแรงเพราะปรุงอาหารได้น้อยเนื่องจากใบที่มีสารคลอโรฟิลถูกทำลายและถ้าไม่มีการป้องกันกำจัดก็จะลุกลามไปยังกิ่งและผลของมะนาวทำให้เกิดแผลที่กิ่งโดยเฉพาะกิ่งอ่อนถ้าเกิดติดโรคนี้เข้าจะไม่เจริญเติบโตและจะแห้งตาย ถ้าเป็นกิ่งแก่ก็จะเกิดแผลที่กิ่งเป็นรอยนูนขึ้นเปลือกในส่วนที่จะสะสมอาหารจะถูกทำลายทำให้สะสมอาหารได้น้อยซึ่งจะมีผลต่อการออกดอกติดผลและขนาดของผลจะเล็กลงอย่างเห็นได้ชัด โรคนี้ยังสามารถลุกลามไปยังผลทำให้ผลมีร่องรอยของการทำลายของเชื้อแคงเกอร์ ทำให้ผลมีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาล

091220163915620800000108

โรคแคงเกอร์ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มะนาวยืนต้นตาย โดยก่อนจะตายมะนาวจะติดลูกดกมาก แต่ลูกจะไม่โตเท่าไหร่เนื่องจากอาหารไม่เพียงพอ

     สาเหตุของการเกิดโรค โรคแคงเกอรมักจะเกิดกับมะนาวที่ขาดการดูแล เช่นการปล่อยให้กิ่งรกเรื้อทำให้แสงแดดและลมผ่านเข้าไปในทรงพุ่มไม่ได้ ทำให้เกิดความอับชื้นหมักหมมภายในทรงพุ่มซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่เชื้อตัวนี้ชอบมาก การให้น้ำผิดวิธีและเวลาก็เป็นสาเหตุของโรคนี้เช่นกัน ชาวสวนบางท่านหรือเกษตรกรที่ปลูกมะนาวไว้ใช้ในครัวเรือน เวลาให้น้ำมักจะรดทั้งต้น โดยฉีดน้ำใส่ทรงพุ่มโดยตรงแทนที่จะรดแค่ดินใต้ทรงพุ่ม ทำให้เกิดความชื้นสูงเป็นสาเหตุให้เชื้อระบาดได้ง่าย หรือบางท่านให้น้ำโดยการใช้สปริงเกลอร์แบบสาดทั่วสวน แทนที่จะใช้แบบเป็นจุดแบบมินิสปริงเกลอร์หรือแบบน้ำหยด สาเหตุที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการที่ใบมะนาวถูกหนอนชอนใบทำลายทำให้เกิดแผลที่ใบ ก็จะทำให้เชื้อตัวนี้เข้าทำลายใบมะนาวได้โดยง่าย และสาเหตุสุดท้ายคือการเลือกพันธุ์มะนาวที่ไม่ทนต่อโรคมาปลูก

     การป้องกันและกำจัดโรค  การป้องกันโรคแคงเกอร์ก็สามารถทำได้หลายวิธี ซึ่งการป้องกันนั้นเหมาะกว่าที่จะมากำจัดหลังจากมะนาวติดโรคแล้วเพราะหากเราป้องกันได้ดีก็จะไม่ต้องมาเสียเวลาเสียค่าใช้จ่ายในการกำจัดโรค และมะนาวของเราก็จะสมบูรณ์แข็งแรงให้ผลผลิตที่สูง เรามาดูกันครับว่าจะมีวิธีป้องกันโรคนี้อย่างไรบ้าง

    - การตัดแต่งกิ่ง การตัดแต่งกิ่งมะนาวจัดทรงพุ่มให้โปร่งอยู่เสมอจะช่วยให้แสงแดดส่งถึงทั่วทั้งทรงพุ่ม และมีลมผ่านได้ตลอดทำให้ภายในทรงพุ่มไม่มีความชื้นที่เชื้อแคงเกอร์ชอบ โดยรังสี UVจะเป็นตัวช่วยกำจัดเชื้อเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี และกิ่งที่ตัดออกนั้นจะต้องนำไปเผาทิ้งหรือนำไปกำจัดภายนอกสวนให้หมด

    - การให้น้ำมะนาว  การให้น้ำมะนาวหากเป็นการลากสายยางรดไม่ควรฉีดใส่ทรงพุ่ม ควรรดเฉพาะดินบริเวณทรงพุ่มเท่านั้นเพื่อไม่ให้น้ำเกาะอยู่ที่ใบซึ่งเชื้อตัวนี้จะลงไปฟักตัวได้ทันที ไม่ควรรดน้ำตอนเย็นหลังจาก 17.00 น.ไปแล้ว เพราะดินจะแห้งช้าทำให้เกิดความชื้นสะสมนานเป็นแหล่งเพาะเชื้อได้ดี การให้น้ำมะนาวนั้นควรให้น้ำเฉพาะจุดโดยใช้มินิสปริงเกลอร์หรือระบบน้ำหยดจะดีที่สุด และพยายามให้น้ำให้เสร็จเรียบร้อยในช่วงเช้า หลีกเลี่ยงการให้น้ำโดยใช้สปริงเกลอร์แบบสาดทั่วทั้งต้นเด็ดขาด

    - ป้องกันกำจัดหนอนชอนใบ หนอนชอนใบนอกจากจะทำลายใบมะนาวให้เสียหายแล้วยังเ)้นสาเหตุให้แคงเกอร์มีเข้าทำลายต่อจากร่องรอยที่หนอนทำลายด้วย ดังนั้นการกำจัดหนอนชอนใบก็จะช่วยให้เชื้อแคงเกอร์ไม่มาติดใบมะนาวได้ง่าย การกำจัดหนอนชอนใบนั้นจะเอาไว้เขียนในหัวข้อต่อไปนะครับ

    - คัดเลือกพันธุ์มะนาวที่ทนต่อโรคแคงเกอร์  การคัดเลือกพันธุ์มะนาวที่ทนทานต่อโรคนับว่าเป็นตัวเลือกที่ดีในการต่อสู้กับเชื้อตัวนี้นะครับ มีมะนาวหลายสายพันธุ์ที่ค่อนข้างจะทนต่อการทำลายของแคงเกอร์ แต่ชาวสวนหลายท่านไม่นิยมปลูกเนื่องจากตลาดไม่ค่อยนิยมบริโภคนั่นเอง ซึ่งจริง ๆแล้วหากชาวสวนหันมาปลูกพันธุ์เหล่านี้กันทั้งหมดผู้บริโภคก็จะหันมาใช้เอง และเป็นความปลอดภัยทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคเนื่องจากมะนาวเหล่านี้แทบจะไม่ต้องใช้สารเคมีกำจัดโรคและแมลงเลยเพราะนอกจากจะทนต่อเชื้อแคงเกอร์แล้วยังทนต่อแมลงด้วย ได้แก่ พันธุ์แป้นพิจิตร1,2 แป้นสุขประเสริฐ แป้นดกพิเศษ มะนาวตาฮิติหรือมะนาวทูลเกล้า และยังมีการค้นพบมะนาวที่ทนโรคได้อีกหลายสายพันธุ์บางสายพันธุ์อาจจะอยู่ระหว่างการทดสอบสายพันธุ์อยู่

     - การกำจัดเชื้อตัวนี้ก็สามารถทำได้ดังนี้

          - ตัดแต่งกิ่งและใบที่เป็นโรคไปเผาทิ้ง โดยวิธีนี้ค่อนข้างจะใช้เวลานานเนื่องจากต้องสำรวจทุกกิ่งทุกใบ จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมนัก

          - ใช้สารเคมีฉีดพ่น สารเคมีที่สามารถกำจัดเชื้อตัวนี้ได้ที่นิยมใช้กันทั่วไปก็คือสารคอปเปอร์ โดยจะต้องฉีดพ่นสารตัวนี้เป็นประจำอย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมไม่ให้เชื้อเจริญเติบโตแพร่ขยายได้ การฉีดต้องฉีดตั้งแต่ใบอ่อน เพื่อควบคุมไว้ก่อน ทำให้สารตัวนี้จะปเคลือบที่ใบมะนาว จะมีผลต่อมะนาวคือใบจะรับแสงได้น้อยลงทำให้ปรุงอาหารได้ไม่ดี และจะตกค้างอยู่ที่ผิวผลของมะนาว เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

          - ใช้น้ำปูนใสฉีดพ่นวิธีนี้อาจจะควบคุมเชื้อได้ไม่ดีเท่าวิธีแรกแต่ก็จะปลอดภัยมากกว่า

          - .ใช้สารอินทรีย์ เช่นเชื้อไตรโคเดอร์ม่าฉีดพ่นในช่วงเย็น การใช้เชื้อแบคทีเรียในการฉีดพ่นกำจัดเชื้อตัวนี้ก็เป็นอีกทางเลือกที่ปลอดภัยและทำให้พืชมีภูมิต้านทานที่ดีขึ้น แต่ไม่ค่อยนิยมใช้เนื่องจากยุ่งยากเพราะต้องฉีดพ่นเวลาแดดอ่อนเท่านั้นเพราะถ้าฉีดช่วงแดดแรงเชื้อจะตายเสียก่อน ทำให้ทำได้ช้าและไม่ทันการสำหรับสวนใหญ่ ๆ

          - ใช้ยาปฏิชีวนะ ฉีดพ่น วิธีนี้สามารถกำจัดเชื้อได้อย่างเฉียบขาดแต่ในทางการค้าจะไม่นิยมและจะห้ามใช้เนื่องจากจะมีสาอันตรายตกค้างและอาจทำให้เชื้อดื้อยาได้ด้วย

 

ก็เป็นเกร็ดความรู้เล็ก ๆน้อย ๆสำหรับมือใหม่ที่คิดจะปลูกมะนาวนะครับ อ่านไว้เพื่อประดับความรู้จะได้ไม่ท้อเวลาเจอปัญหาจากโรคนี้ครับ ในตอนนี้คงต้องลาไปก่อน สำหรับตอนหน้าจะนำเกร็ดความรู้อื่น ๆ มานำเสนอให้ได้อ่านกันอีกคอยติดตามนะครับ สวัสดีครับ 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุ๊กกี้(Cookies Policy)

เพื่อเพิ่มประสบการณ์การใช้งานให้ดียิ่งขึ้น และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านกด "ยอมรับ" หรือใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อ ถือว่าท่านยินยอมให้มีการใช้งานคุกกี้ โดยท่านสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและการตั้งค่าคุกกี้ (รวมถึงการปฏิเสธ และการลบ) ได้ที่ นโยบายการใช้คุกกี้